- 07 ธ.ค. 2561
ทยอยเข็นออกมาเรื่อยๆ กับมาตรการช่วยเหลือประชาชน ถือเป็นของขวัญที่ทำให้ชื่นมื่นกันถ้วนหน้า ล่าสุด 7 ธ.ค. 2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กรณีเร่งรัดธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์
ทยอยเข็นออกมาเรื่อยๆ กับมาตรการช่วยเหลือประชาชน ถือเป็นของขวัญที่ทำให้ชื่นมื่นกันถ้วนหน้า ล่าสุด 7 ธ.ค. 2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กรณีเร่งรัดธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อจัดทำข้อสรุปมาตรการเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอมอี ทั้งสองกลุ่ม คือกลุ่มธุรกิจที่กำลังเผชิญปัญหาแต่ยังสามารถประคับประคองไปได้ โดยในกลุ่มนี้จะมีการเติมเงินทุนส่วนหนึ่งเพื่อไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ และอีกกลุ่มคือกลุ่มร้านค้าส่งค้าปลีก ร้านโชห่วยหรือร้านธงฟ้าในชุมชน โดยเฉพาะร้านสินค้าเกษตรที่จำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านในช่วงเทศกาลปีใหม่
ทั้งนี้กำลังเตรียมเสนอต่อ ครม. พิจารณาเห็นชอบให้มีผลทันก่อนสิ้นปี 2561 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลถึงพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เนื่องเล็งเห็นความสำคัญว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนที่สำคัญ "ทั้ง 2 มาตรการเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายเสริมแกร่งเอสเอ็มอีของกระทรวงฯ เรื่องกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีวงเงิน 1,800 ล้านบาทนั้น เป็นการยุบรวม 2 กองทุนที่เหลือจาก สสว. นำมาปรับให้เกิดความเหมาะสมและคล่องตัว โดยมอบให้ ธพว. ซึ่งมีสาขาทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ควบคู่กับการเสริมความรู้ทางการเงินที่ ช่วยเหลือทางการตลาดให้ขายสินค้าได้ ปรับปรุงกิจการโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเรื่องที่จำเป็น" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
โดยในส่วนของร้านค้าปลีกนั้นจะมีสินเชื่อพิเศษช่วยเหลือปรับเปลี่ยนยกระดับวิธีการขายเพื่อช่วยผู้ประกอบการในชุมชน ที่มีมากกว่าแสนราย จุดประสงค์หลักเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการจัดซื้อสินค้าก่อนนำมาขายปลีกในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนที่จะถึงนี้ ซึ่งในแต่ละร้านค้าจะใช้วงเงินอยู่ที่ประมาณ 200,000-300,000 บาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชนได้ 5-7 รอบ ซึ่งถ้ารวมทุกแห่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศได้มหาศาล
พร้อมกันนั้นทาง รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่า หลักใหญ่ของมาตรการนี้คือต้องช่วยเอสเอ็มอีแบบ "ล้มแล้วลุกอีกครั้งให้ได้" และเงินทุนที่ช่วยเหลือต้องไม่มีดอกเบี้ยเพราะจะเป็นการสร้างภาระแก่ผู้ประกอบการ ส่วนระยะเวลาในการผ่อนก็ต้องมีกรอบระยะเวลานานเพียงพอที่กิจการจะฟื้นตัว แม้วงเงินต่อรายอาจไม่มากแต่ก็เพื่อเป็นการกระจายความช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด หลังจากนี้ถ้ากิจการเริ่มเข้มแข็งจะให้ ธพว.สนับสนุนสินเชื่ออื่นเพิ่มเติมให้อีกต่างหาก
ขณะที่ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนออกไปจนถึงวันที่ 18 ธ.ค. 2562 จากที่ก่อนหน้านี้หมดเขตภายในปีนี้ หรือก่อนจนกว่า จะหมดวงเงินสินเชื่อรวมโครงการที่เหลืออยู่ 35,000 ล้านบาท รวมทั้งให้ขยายกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของสินเชื่อนี้จากกลุ่มเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว และมีนวัตกรรม โดยให้เพิ่มกลุ่มค้าส่งค้าปลีก ร้านโชห่วย ร้านค้าชุมชน ร้านธงฟ้า ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรเข้าไว้ด้วย ภายใต้ชื่อ "โครงการประชารัฐเสริมแกร่งการค้าสู่ชุมชน"
ซึ่งนอกจากจะวางเป้าหมายสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง จะเป็นการเชื่อมโยงระบบถุงเงินประชารัฐของกระทรวงการคลังและโชห่วย-ไฮบริดของกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนพัฒนาระบบรวมซื้อผ่านไปรษณีย์ไทยเพื่อลดต้นทุนของร้านโชห่วย รวมถึงเป็นการร่วมมือของพันธมิตรภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจไปพร้อมกันอีกด้วย ทั้งนี้ธนาคารจะเสนอ ครม. พิจารณาตั้ง "โครงการประชารัฐสร้างโอกาสคนตัวเล็กล้มแล้วลุก" เพิ่มเติมในวงเงิน 1,800 ล้านบาท ในส่วนนี้จะมอบหมายให้ธนาคารเป็นหน่วยร่วมทำหน้าที่บริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอมอีอีกทางหนึ่ง
สำหรับโครงการดังกล่าวจะมีวงเงินให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อราย ระยะเวลาชำระเงินกู้ 7 ปี ไร้ดอกเบี้ยแบ่งเป็นทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน 50,000 บาท และหากมีการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน จะเติมทุนให้อีก 50,000 บาท หลังจากนั้นเมื่อธุรกิจที่ทำมีผลประกอบการที่ดีเข้าสู่ระบบถูกต้อง และต้องการจะต่อยอดหรือขยายธุรกิจ สามารถมาใช้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษของธนาคาร เพิ่มเงินทุนให้สูงสุดอีก 1 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 30,000 ราย นับเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้กลับมาลืมตาอ้าปาก พร้อมกับพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชนได้อย่างแท้จริง