- 15 ธ.ค. 2561
เรียน"พานทองแท้" ช่วยตอบที มหากาพย์โกงเหล่านี้ ผลงานใคร?
สืบเนื่องจาก"นาย พานทองแท้ ชินวัตร" หรือ โอ๊ค บุตรชายของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันหลบหนีอยู่ต่างแดน โพสต์ข้อความลงบนทวิเตอร์ Oak Panthongtae เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “จริงครับอา Sunset อาต้องชู CTX~เรียงหิน~เรือเหาะ~รถเกราะล้อยาง~GT200~นาฬิกายืมเพื่อน~สนามฟุตซอล~ขายยางดาวอังคาร~พืชผลตกต่ำ~คนรวยเหลื่อมล้ำ~เรือดำน้ำปักเลน~อมเงินคนพิการ~ตั้งบริษัทค่ายทหาร~อุทยานราชภักดิ์ ฯลฯ และปิดท้ายด้วย “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกอา” จึงจะครบสูตรครับ”
สำหรับโพสต์ดังกล่าวของนายพานทองแท้ มีต้นตอมาจากข่าวที่ว่า "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" เชื่อ เลือกตั้งครั้งนี้ แข่งที่นโยบายเป็นหลัก รับชู "บิ๊กตู่" อย่างเดียวแพ้แน่! โดยเป็นคำกล่าวของนายสุริยะ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการจัดสัมมนาแนวการรับสมัครสมาชิกภาคกลาง มีใจความว่า "การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เชื่อว่าการแข่งขันของพรรคการเมืองจะขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคเป็นหลัก หากจะชู "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ชนะคู่แข่ง..."
อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีทุจริตซีทีเอ็กซ์ ผู้ที่ตกเป็นจำเลยนอกจาก"นายสุริยะ" แล้ว ยังมี "นายทักษิณ" บิดา"นายพานทองแท้" คลุกอยู่ในนั้นด้วย โดย ป.ป.ช.ลงมติไม่ส่งฟ้องเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 55
ยิ่งไปกว่านั้น "นายทักษิณ" ผู้เป็นบิดาของ "นายพานทองแท้" ยังมีพฤติกรรมการคอรัปชั่นอีกมายมายมหาศาล ฉะนั้นมาดูพฤติกรรมมหากาพย์นักโกงของ"นายทักษิณ"ซึ่งที่ผ่านมาขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็น"นายกรัฐมนตรี"นั้น ก็มีข้อมูลปรากฎว่าได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ในการหาผลประโยชน์ให้ตนเองและครอบครัว จนทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำตัดสินให้ยึดทรัพย์สินจำนวน 76,261.6 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน...
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 คือวันประวัติศาสตร์ ที่คนในสังคมไทยต้องจดจำ กับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้ยึดทรัพย์สินจำนวน 76,261.6 ล้านบาท ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตกเป็นของแผ่นดิน
โดยคำพิพากษาศาลฎีกาฯในวันนั้นมีการบันทึกโดยสรุปเป็นใจความสำคัญได้ ดังนี้ ประเด็นวินิจฉัยผู้ถูกกล่าวหาปกปิดอำพรางหุ้นหรือไม่ วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 วาระ ยังถือหุ้นไว้ แต่ปี 2549 รวบรวมหุ้นทั้งหมดขายให้ Temasek(เทมาเส็ก) โดยมีการโอนหุ้นให้กับผู้คัดค้านหลายคนจริง ผู้ถูกกล่าวหาแม้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2544 แล้ว ผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจดำเนินนโยบายและแต่งตั้งกรรมการในบริษัทชินคอร์ปจริง
การควบคุมนโยบายของผู้ถูกกล่าวหาผ่านทางคณะกรรมการบริษัทชินคอร์ปจริง มีมติเป็นเอกฉันท์ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 มีหุ้นในเทมาเส็กจริง การขายหุ้นให้พี่น้องมีพิรุธ ไม่มีใครจ่ายเป็นเงิน ทั้งที่จริงๆ มีเงินจ่ายได้ แต่กลับจ่ายเป็นตั๋วสัญญา อีกทั้งยังเป็นผู้รับเงินปันผลตามบัญชีบริษัทแอมเพิลริช ที่มีเงินปันผลเข้าบัญชีระหว่างปี2546-2548 จำนวน 1,000 ล้านบาท ศาลจึงมีมติเอกฉันท์ว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ถือหุ้นใหญ่กว่า 1,400 ล้านหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งทั้งสองสมัย ซึ่งจากกรณีที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นก็สามารถแบ่งแยกย่อยได้มาอีก 5 กรณี ประกอบด้วย
-กรณีที่ 1 การแปลงสัญญาสัมปทานฯ เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป วินิจฉัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป และเป็นเหตุให้ชาติเสียหาย เพราะภาษีสรรพสามิตหายไป 6 หมื่นล้านเศษ มีมติด้วยเสียงข้างมาก ผู้ถูกกล่าวหา ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ตราพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ทำให้ชาติเสียหาย -กรณีที่ 2 กรณีแก้ไขสัญญาโทรศัพท์มือถือ กรณีบัตรเติมเงิน และ โรมมิ่ง โดยการแก้ไขสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรเติมเงิน (PREPAID CARD) ส่งผลให้เอไอเอส จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้แก่ บริษัท ทศท. ในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 จากเดิมที่ต้องจ่ายตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการ
การแก้ไขสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (ROAMING) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ ชินคอร์ปฯ และAIS(เอไอเอส) การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัท AIS(เอไอเอส ) เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นมีผลต่อการจ่ายเงินผลประโยชน์ที่บริษัท AIS ต้องจ่ายให้กับ บริษัท ทศท. และบริษัท กสท.ไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท กลายเป็น AIS จะได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว
วินิจฉัยว่า ภาระเอไอเอสลดน้อยลง แต่มีรายได้เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 44-49 โดยลำดับ ตั้งแต่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก ว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขสัญญาดังกล่าว และผู้ถูกกล่าวหามีหุ้นในชินคอร์ป ผลประโยชน์จึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา เงินที่ขายหุ้นให้เทมาเส็ก จึงได้มาโดยไม่สมควร
-กรณีที่ 3 กรณีการใช้โครงข่ายร่วม (โรมมิ่ง)
วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีส่วนในการแก้ไขสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่ออนุญาตให้ใช้โครงข่ายร่วม (โรมมิ่ง) และปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมระหว่างกสท.กับ DPC เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับชินคอร์ปฯ และเอไอเอส แต่เนื่องจากมีการขายหุ้นให้เทมาเส็กไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ทำให้ผู้ได้รับประโยชน์จากการลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นTemasek(เทมาเส็ก)
-กรณีที่ 4 กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมโดยมิชอบ การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี ได้แก่ การอนุมัติโครงการดาวเทียม IP STAR (ไอพี สตาร์), การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ 5 วันที่ 27 ตุลาคม 2547 รวมถึงการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ ในบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ ที่เป็นผู้ขออนุมัติสร้างและส่งดาวเทียมไทยคม และการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเช่าช่อสัญญาณต่างประเทศ ล้วนเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัท ชินคอร์ปฯ และชินแซท วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ลัดขั้นตอน รีบเร่ง ผิดปกติวิสัย
ทั้งนี้ ดาวเทียม IP STAR ไม่ได้เป็นดาวเทียมหลัก แทนไทยคม 3 เป็นดาวเทียมใช้สื่อสารต่างประเทศ ผิดสัญญาตามที่ระบุว่า ใช้สื่อสารในประเทศ จึงอยู่นอกกรอบสัญญา เป็นการอนุมัติให้บริษัทผู้ถูกกล่าวหา ได้รับสัมปทานไปโดยไม่มีคู่แข่ง ทำให้รัฐเสียหายกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท องค์คณะจึงมีมติด้วยคะเสียงข้างมาก เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ และบริษัทไทยคม
-กรณีที่ 5 กรณีอนุมัติเงินกู้เอ็กซิมแบงค์ให้พม่า การขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับประเทศพม่า เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากประชุมร่วมกับพม่า-กัมพูชา และในการประชุมครั้งนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของไทยคมและไอเอเอส ไปสาธิตระบบให้บริการมือถือผ่านดาวเทียมในการประชุมด้วย จึงย่อมแสดงให้เห็นว่าการขอวงเงินเพิ่มเติมมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากไทยคมนั่นเอง ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้อนุมัติเงินไปซื้อสินค้าอื่นนั้น ก็ไม่อาจรับฟังหักล้างข้อที่ว่าไทยคมจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการในเรื่องนี้ได้ และที่อ้างว่าการอนุมัติวงเงินสินเชื่อนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของธนาคารนั้น เห็นว่าธนาคารเอ็กซิมแบงค์ ตั้งขึ้นตามพรบ.เอ็กซิมแบงค์ ปี2536 และอยู่ในการกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดเป็นหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
ซึ่งใน 5 กรณีพบว่ามีการสั่งการอยู่ 2 กรณีคือ การแปลงภาษีสรรพสามิตฯ โดยเป็นการสั่งการและมอบนโยบายให้ปฏิบัติเป็นลำดับชั้น ตั้งแต่รมว.คลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงICT(ไอซีที ) ข้าราชการ .และกรรมการในชุดต่างๆ อีกกรณีคือการอนุมัติของเอ็กซิมแบงค์ในการให้วงเงินสินเชื่อแก่พม่า โดยผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการและมอบนโยบายผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ส่วนอีก 3 กรณีคือบัตรเติมเงิน การใช้โรมมิ่ง และละเว้นอนุมัติส่งเสริมธุรกิจดาวเทียมในประเทศ ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาล้วนเป็นผู้กำกับดูแลในฐานะนายกรัฐมนตรี มีการไล่เป็นลำดับชั้นได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที และหน่วยงานของรัฐต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกฯ และเป็นประธานBBO(บีโอไอ)
ส่วนกรณีการใช้เครือข่ายร่วมนั้นก็ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ปฏิบัติ และมีการตอบสนองเอไอเอสอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับกรณีดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ก็มีวิธีการทำนองเดียวกัน คือให้รมว.คมนาคมอนุมัติไปก่อนที่คณะกรรมการจะรับรายงานการประชุม ปรากฏจากบันทึกของบวรศักดิ์ อุวรรโณว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควร เนื่องจากสัญญาสัมปทาน มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกฯ จึงให้ถอนเรื่องออกไป และเงินขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร ในฐานะดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ ตามประกาศคปค.ฉบับที่30 ประกอบพรบ.รัฐธรรมนูญว่าปปช. แต่โดยที่ผู้คัดค้าน 1 ร้องคัดค้านในประเด็นสินสมรส จึงเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าศาลจะให้เงินในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดินได้หรือไม่
กรณีนี้เห็นว่าการจะให้ความคุ้มครองในทรัพย์สินนั้น ต้องได้ความว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาโดยชอบและในทางที่สมควร คดีนี้ได้ความจากการไต่สวนว่าผู้ถูกกล่าหาและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งชินคอร์ป และหุ้นที่ทั้งสองคนถือหุ้นก็มีมาก และในสัดส่วนที่สูง และทั้งคู่มีประโยชน์ร่วมกันตลอดมา และผู้คัดค้านที่ 1 ก็เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน การที่ขายแอมเพิลริช และขายหุ้นชินคอร์ปให้กับแอมเพิลริช ก็ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้จ่ายเงินให้กับผู้ถูกกล่าวหาไปก่อน
นอกจากนั้นผู้คัดค้านที่ 1 ยังมีส่วนร่วมในการหลีกเลี่ยงในการโอนหุ้น เป็นการแสดงให้เห็นเจตนาในการแสวงหาประโยชน์ร่วมกันตลอดมา เมื่อฟังว่าเงินปันผลค่าหุ้น เป็นการได้มาโดยมิชอบเสียแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านย่อมไม่อาจอ้างว่าเป็นสินสมรสได้ ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้เงินในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดินได้ด้วย ส่วนจะต้องตกเพียงใดนั้น เห็นว่าพรบ.ปปช.มาตรา 4 ให้ความเหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับการร้องขอให้ทรัพย์สินเป็นของแผ่นดินไว้ 2 กรณี คือ 1.ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือหนี้สินลดลงผิดปกติ และ 2.ร่ำรวยผิดปกติ คือมีทรัพย์สินมีทรัพย์สินเพิ่มมากผิดปกติ หรือมีหนี้สินมากผิดปกติ
เมื่อพิจารณาจากความหมายของคำดังกล่าวเห็นว่ามูลคดีของการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินแยกเป็น 2 กรณีคือ 1.เมื่อเปรียบเทียบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งก่อนและหลังดำรงตำแหน่ง พบว่ามีทรัพย์สินมากผิดปกติ กับการที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผู้คัดค้านทำนองว่าก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะดำรงตำแหน่งวาระแรกมีทรัพย์สินที่ยื่นต่อปปช.มีมูลค่ารวม 15,124 ล้านบาท จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินในส่วนนี้เป็นของแผ่นดินได้นั้น เห็นว่าคดีนี้คตส.ไต่สวน และผู้ร้องกล่าวถึงกรณีผู้ถูกกล่าวมีส่วนได้เสียจากกชินคอร์ป ใช้อำนาจกระทำการต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้กับชินคอร์ป และทรัพย์สินที่ร้องขอก็มุ่งเฉพาะเงินปันผลและเงินที่มุ่งเฉพาะที่ขายได้จากการขายหุ้นเท่านั้น อีกทั้งคำร้องของผู้ร้องก็ไม่ได้บังคับไปถึงทรัพย์สินอื่น จึงไม่ต้องพิจารณาคำร้องคัดค้านของทั้งสอง
อย่างไรก็ดี มีข้อต้องพิจารณาต่อไปอีกว่าเงินปันและเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรทั้งจำนวนหรือไม่? ในข้อนี้หากพิจารณาว่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และร่ำรวยผิดปกติแล้ว เห็นว่าไม่ว่ามูลคดีจะเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาอยู่แล้ว ส่วนเงินปันผลค่าหุ้นตามจำนวนที่ถืออยู่ในเอไอเอส และไทยคมบางส่วน ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มานอกจากที่มีอยู่แล้ว ต้องตกเป็นของแผ่นดินทั้งจำนวนส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นเงินที่มีมูลค่าเดิมอยู่ด้วย การจะให้ค่าขายหุ้นตกเป็นของแผ่นดินทั้งจำนวนย่อมไม่เป็นธรรม
และเมื่อพิจารณาจากการที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นสัมปทานจากรัฐ มาตรา 100 ประกอบพฤติการณ์ ที่ให้ผู้คัดค้าน 2-5 ถือหุ้นไว้แทน รวมทั้งใช้อำนาจหน้าที่กระทำการเอื้อประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมไม่เป็นการสมควรที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 จะได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงถือว่าปย.ค่าหุ้นชินคอร์ปในส่วนที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ 7 กุมภา 44 เป็นต้นไป เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร หากเมื่อพิจารณาแล้วปรากฏว่าการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 คำนวณจากหุ้น 1,419,490,150 หุ้นที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นเงิน 32,047 ล้าน 9 แสนซึ่งมีอยู่แต่เดิม ไม่อาจให้ตกเป็นของแผ่นดินตามที่ร้องได้ องค์คณะจึงมีมติเสียงข้างมากให้ทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน เฉพาะเงินปันผลและค่าขายหุ้น รวมจำนวน 46,373,680,754.บาท 74 สตางค์
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีคดีโกงจาก"ระบอบทักษิณ" อีกคดีที่ใหญ่พอกันคือ "การโกงบ้านเอื้ออาทร" (โกงได้แม้กระทั่งบ้านของคนจน คนยากไร้)
โครงการบ้านเอื้ออาทร ตามนโยบายรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการพิพากษาความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกบางส่วนเพิ่งมีการรื้อฟื้นนำมาพิจารณาความผิดถูกอีกครั้ง จนกระทั่งมีการชี้มูลบุคคลที่เข้าข่ายกระทำผิด และเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม ล่าสุดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้อง นำทีมโดย นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 60 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลทักษิณ 2 และ แกนนำพรรคเพื่อไทย พร้อมพวก ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ
ขณะเดียวกัน นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง พร้อมพวก ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน การกระทำอันอื้อฉาวและเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นดังกล่าว จากการสืบค้นย้อนกลับไป โดยนายแก้วสรร อติโพธิ คณะอนุกรรมการสอบสวนการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยสังเขปดังนี้ สำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทร สืบเนื่องมาจากการได้พบเห็นโครงการ “บ้านคนจน” ในประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อเดือนตุลาคม 2545 แล้วมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ โดยมีฝ่ายนโยบายและแผนของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นเจ้าของเรื่อง และมีข้อสรุปว่า ...
ที่ประชุมคตส.มีมติชี้มูลความผิด และแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องใน โครงการบ้านเอื้ออาทร 1 โครงการ จากทั้งหมด 348 โครงการ โดยพบว่า มีโครงการก่อสร้างของบริษัท พาสทีญ่า ซึ่งพบว่าเป็นการก่อสร้างแบบเทิร์นคีย์ และการจัดซื้อราคาที่ดินเกินจริง ทั้งยังพบว่า มีการเรียกค่าหัวคิว 82 ล้านบาท โดยตรวจสอบพบว่า มีการนำไปจ่ายให้กับนักการเมือง และบริษัทดังกล่าว ยังเข้าข่ายการฟอกเงิน โดยเงินจำนวนนี้ ได้มีการโอนเข้าบัญชีของคนขับรถ - แม่บ้าน และพนักงานพิมพ์ดีด
คตส.จึงสรุปชี้มูลความผิด นายวัฒนา ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และความผิดฐานให้และรับสินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และมาตรา 149 และนายมานะ วงศ์พิวัฒน์ กรรมการการเคหะแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการ พิจารณากลั่นกรองโครงการ และบริษัทพาสทีญ่า ไทย จำกัด พร้อมดำเนินคดีกับกรรมการบริษัท ที่เป็นทั้งคนไทย และชาวมาเลเซีย ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และพนักงานบริษัทของ พาสทีญ่า ในความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 ซึ่ง คตส.จะส่งให้ดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบเรื่องการฟอกเงินต่อไป
โดยพฤติการณ์ทุจริตในคดี พบว่าหลังจากที่ได้พิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และตรวจสอบตามแนวทางจนปรากฏพฤติการณ์ทุจริตในคดี มาโดยลำดับ พนักงานเจ้าหน้าที่และคณะอนุกรรมการได้เห็นพ้องต้องกันว่า แม้พยานหลักฐานในคดีจะมิใช่พยานโดยตรงระบุบ่งถึงการกระทำทุจริต เป็นรายละเอียดที่ชัดแจ้งก็ตาม แต่ก็ยืนยันเห็นเป็นความต่อเนื่อง ปรากฏเป็นพยานแวดล้อมที่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะ พิสูจน์มูลคดีได้เป็นลำดับ คือ
1. กระบวนการจัดสรรโควต้า ที่ชี้บ่งว่า รัฐมนตรีเป็นผู้ผลักดันทั้งโครงสร้างของระบบและ แต่งตั้งบุคคลที่ไว้วางใจเข้ายึดกุม ใช้อำนาจในกระบวนการจัดสรรโควต้าตามระบบดังกล่าว
2. พยานบุคคลที่ยืนยันว่า รัฐมนตรีสั่งให้ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองนำข้อเสนอของบริษัทพาสทีญ่าเข้าสู่การรับรอง ทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอน
3. หลักฐานทางบัญชีที่ยืนยันว่า เงินล่วงหน้าที่ได้จากสัญญานี้ มิได้นำไปใช้ในการพัฒนาโครงการทั้งหมด และได้นำมาเข้าบัญชีและแยกประเภทไว้ เป็นรายการค่าตอบแทนข้าราชการเป็นจำนวน
4. ปากคำพยานกรรมการ พนักงานในบริษัท และบริษัทบัญชี ที่สอดคล้องต้องกันว่าได้รับคำอธิบายว่าเงินก้อนนี้จะนำไปจ่ายให้แก่รัฐมนตรี
5. เส้นทางเดินของเงินที่ตรวจพบว่ามีความพยายามฟอกเงิน แล้วในที่สุดก็รวมเงินไปอยู่ในบัญชีบริษัทเพรสซิเดนท์และบริวาร เป็นจำนวน 82,500,000 บาท (แปดสิบสองล้านห้าแสนบาท) ตรงตามจำนวนที่พยานยืนยันว่ามีการเรียกรับ หน่วยละ 11,000 บาท จำนวน 7,500 หน่วย ซึ่งก็ได้ตรวจสอบยืนยันต่อไปได้ว่าบริษัทและกรรมการผู้จัดการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายวัฒนา ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยที่รัฐมนตรีผู้นี้ดูแลกระทรวงพาณิชย์ และถือได้ว่ามีบทบาทรับผิดชอบจัดสรรโควตาข้าวให้แก่บริษัทนี้ อย่างมีเงื่อนงำ เป็นคดีที่ค้างคาไร้การตรวจสอบมาจนทุกวันนี้ ด้วยรูปคดีที่สอดคล้องต้องกันดังเช่นที่กล่าวมา คณะอนุกรรมการฯจึงเห็นว่าคดีมีมูลเพียงพอ ให้กล่าวหาและไต่สวนผู้เกี่ยวข้องต่อไป ในประเด็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
1.ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นายวัฒนา เมืองสุข ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม 2548 – 19 กันยายน 2549)
2.นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ ครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ กคช. และประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการ (ระหว่างวันที่ 9กันยายน 2548 – 19 กันยายน 2549)
3.บริษัทพาสทิญ่า ไทย จำกัด และกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายศักดิ์สิทธิ์ หรือเดชวรชิต อลังการกุล นายชาฮ์นน บิน ยาขอบ นาย ฮาฮ์มัด บิน ฮารอณ และนายโมฮ์ด ฮาณาเปียร์ บิน อับดุล อาซิส ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
4.ความผิดฐานให้และรับสินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 และมาตรา 149 นายวัฒนา เมืองสุข ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม 2548 – 19 กันยายน 2549) เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
5.บริษัทพาสทิญ่า ไทย จำกัด และกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายศักดิ์สิทธิ์หรือเดชวรชิต อลังการกุล , นายชาฮ์นน บิน ยาขอบ , นาย ฮาฮ์มัด บิน ฮารอณ และนายโมฮ์ด ฮาณาเปียร์ บิน อับดุล อาซิส ฐานให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144
6.ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บริษัทเพรซิเด้นท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง (นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ยุคทักษิณเรืองอำนาจ ปัจจุบันติดคุกจากคดียักยอกข้าวในโกดังของรัฐฯ ไปเวียนเทียนขายตั้งแต่ยุคทักษิณรวมอยู่ด้วย ส่วนคดีทุจริตจำนำข้าวยุคยิ่งลักษณ์ล่าสุดนั้นเขาโดนตัดสินจำคุกเพิ่มอีก 48 ปี) และนายอภิชาติ ในฐานะส่วนตัว กระทำผิดฐานฟอกเงินโดยการ โอน รับโอนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินที่ เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อนขณะหรือหลังการกระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542มาตรา 3 และมาตรา 5 (1)
7.นายสุจิตร สวนโสกเชือก นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว พนักงานบริษัทเพรซิเด้นท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด และนางกิ่งแก้ว ลิมปิสุข กรรมการบริษัทเพรซิเด้นท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด กระทำผิดฐานฟอกเงินโดยการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำผิด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3
มหากาพย์การโกงยังไม่สุดเพียงเท่านี้ยังมีคดีสุดอื้อฉาวอย่างโครงการรับจำนำข้าว เป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมของ พรรคเพื่อไทย ที่ได้สร้างความเสียหายให้กับชาติหลายแสนหลายบาท และเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2555 ทักษิณให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอร์บ ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่า เป็นคนคิดนโยบายนี้เอง เหมือนกับสโลแกนตอนหาเสียงที่ว่า ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ พร้อมนโยบายจำนำข้าว ว่า การเพิ่มรายได้จากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ข้าวเปลือกในราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 15,000 บาท นโยบายนี้จะเป็นนโยบายสำคัญ ที่จะมีระบบการบริหารจัดการราคาสินค้าเกษตรในเชิงรุก เป็นผู้กำหนดราคาสินค้าเกษตรหลักในตลาดโลก โดยจะนำเครื่องมือทั้งด้านการเงิน การตลาด และอื่น ๆ เข้ามาบริหารจัดการอย่างครบวงจร
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว ในวันนี้ศาลได้ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายหลายประการ ทั้งความเสียหายขั้นตอนต้นน้ำ มีการโกงความชื้น และน้ำหนักเพื่อกดราคาชาวนา การสวมสิทธิ์ รวมทั้งข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสวมสิทธิ์ การออกใบประทวนเท็จ การใช้เอกสารปลอม ต่อมา ความเสียหายขั้นตอนกลางน้ำ มีข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวเน่า ข้าวไม่ได้มาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ ข้าวสูญหายจากโกดัง และการทุจริตในขั้นตอนปลายน้ำ นั่นคือการระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งศาลเคยวินิจฉัยว่า เป็นการขายที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย เป็นการแอบอ้างสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อนำข้าวมาเวียนเทียนขายแก่ผู้ค้าในประเทศ
และชี้ให้เห็นถึงกรณีของยิ่งลักษณ์ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ยิ่งลักษณ์ทราบรายละเอียด และวิธีขายที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติของรัฐต่อรัฐ พาดพิงถึงผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าว ที่เคยเกี่ยวข้องกับการทุจริตเกี่ยวกับการค้าข้าวในอดีต และบุคคลที่เป็นผู้ช่วยส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนรัฐวิสาหกิจจีนมาซื้อข้าว
ทั้งนี้ สำหรับการปิดบัญชีจำนำข้าวล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2557 มียอดขาดทุน 7 แสนล้านบาท แยกเป็น 11 โครงการก่อนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ 1.63 แสนล้านบาท และอีก 4 โครงการสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5.36 แสนล้านบาท ซึ่งเริ่มจากคดีการปล่อยปละละเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพรบ.ปปช.ม.123/1 ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คดีได้เข้าสู่ระบวนการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วโดยเมื่อดูจากลำดับเหตุการณ์การไต่สวนยิ่งลักษณ์มีดังนี้ - โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 14 ปาก รวม 5 นัด คือ 15 ม.ค.-23 มี.ค. 2559 - จำเลย นำพยานเข้าไต่สวน 42 ปาก รวม 16 นัด คือ 1 เม.ย.-18 พ.ย. 2559
- ที่สำคัญจำเลยต้องมาศาลทุกนัดเพราะศาลไม่อนุญาตให้ไต่สวนพยานลับหลัง ส่วนกรณีออกคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายนั้น ตอนนี้ข้อมูลทั้งหมดถูกส่งมาที่รมว.คลังเป็นที่เรียบร้อย และเตรียมเสนอให้นายกรัฐมนตรีและอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นผู้ระบุตัวเลข เพื่อเรียกค่าเสียหายต่อไป ล่าสุดตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีเรียกค่าเสียหายกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทจากบริษัทและเอกชนที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจาก "คดีจีทูจี" ของ "นายบุญทรง เตริยาภิรมย์" อดีตรมว.พาณิชย์ ซึ่งอัยการได้ทำการทยอยฟ้อง ตามหลักฐานและสำนวนที่ถูกรวบรวมออกมา
แหล่งข่าวสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า การพิจารณาสำนวนเอกสารหลักฐานของกระทรวงพาณิชย์ ที่สรุปค่าเสียหายทางแพ่งให้เอกชนต้องรับผิดชอบค่าเสียหายการระบายข้าวในโครงการจำนำข้าวกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อัยการได้รับสำนวนเอกสารหลักฐานจากกระทรวงพาณิชย์และอัยการได้ประชุมหารือ 2 ครั้งแล้ว สรุปว่ากลุ่มเอกชนดังกล่าวที่กระทรวงพาณิชย์สรุปมา 15 ราย เป็นกลุ่มเดียวกับที่อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องแล้วในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำ อม.25/2558 ที่มี "นายบุญทรง" ฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวกับอดีตนักการเมือง 3 ราย ข้าราชการการเมือง 3 ราย และเอกชนที่เป็นนิติบุคคลกับกรรมการผู้มีอำนาจ 15 ราย รวมจำเลย 21 ราย
อัยการจะยื่นเป็นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้เอกชนทั้ง 15 ราย คือ จำเลยที่ 7-21 ในคดีหมายเลขดำ อม.25/2558 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งเพิ่มเติม เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาสั่งเอกชนชดใช้ต่อกระทรวงพาณิชย์ ผู้เสียหาย โดยกระทรวงพาณิชย์มอบอำนาจให้อัยการสูงสุดเป็นผู้แทนดำเนินการทางกฎหมาย ขณะที่การยื่นคำร้องเพิ่มเติมทางแพ่งในส่วนการ การชดใช้ค่าเสียหาย คาดว่าจะดำเนินการก่อนที่จะถึงวันนัดไต่สวนพยานครั้งแรกในคดีที่ยื่นฟ้อง นายบุญทรง อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวกเอกชน ส่วนการพิจารณาค่าเสียหายกับกลุ่มข้าราชการนั้น แยกเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะออกคำสั่งเป็นลักษณะคำสั่งทางปกครองให้ข้าราชการที่กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหาย หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คดีจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง
สำหรับคดีอาญาทุจริตและฮั้วประมูลการระบายข้าว อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายบุญทรงกับพวกรวม 21 ราย ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ
การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9, 10,12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ, ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต สร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต และอัยการสูงสุดยังขอให้ศาลสั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นเงิน 35,274,611,007 บาท ที่คิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งตามสัญญาระบายข้าว 5 หมื่นตัน
และที่พบว่ามีการกระทำผิดสัญญา 4 ใน 8 ฉบับด้วย โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดไต่สวนพยานครั้งแรกในวันที่ 2 มีนาคมนี้
ส่วนจำเลยที่ 7-21 คดีทุจริตการระบายข้าว 15 ราย ประกอบด้วย นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7, นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8,นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9, บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11, น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์จำเลยที่ 12, น.ส.สุทธิดาหรือสุธิดา ผลดีหรือจันทะเอ จำเลยที่ 13, นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14, นายนิมล หรือโจ รักดีจำเลยที่ 15, นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16, นางสุนีย์ จันทร์สกุลพรจำเลยที่ 17, นาย กฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18, นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19, บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20 น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21
ไม่แต่เพียงเท่านั้น หากจำกันได้จากกรณีข้าวเสื่อมคุณภาพตามโกดังต่างๆ ได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่าอาจมีบริษัทที่ทำสัญญารับฝากข้าวจากรัฐบาล ทำผิดเงื่อนไข จนทำให้ข้าวหายหรือสูญเสีย จึงจะต้องชดใช้ตามเงื่อนไขของการกระทำผิดสัญญาดังนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึง ความคืบหน้าของคณะอนุฯติดตามการดำเนินการกรณีข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ทาง อคส. ได้ไปแจ้งดำเนินคดีกับคู่สัญญา ได้แก่ เจ้าของคลังสินค้า และบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) รวมทั้งสิ้น 152 ราย รวม 802 โกดังกลาง ใน 49 จังหวัด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่1.กลุ่มผิดชนิดข้าว จำนวน 5 ราย 10 โกดังกลาง 5 จังหวัด2.กลุ่มข้าวเสีย จำนวน 13 ราย 94 โกดังกลาง 22 จังหวัด
และ 3.กลุ่มข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน จำนวน 134 ราย 698 โกดัง 49 จังหวัด ส่วนของ อ.ต.ก. ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ จำนวน 46 ราย 272 คลัง แบ่งเป็น 1.บริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพ จำนวน 14 ราย จำนวน 240 คลัง และ 2.เจ้าของคลังสินค้าผู้รับฝากเก็บข้าวสาร จำนวน 32 ราย จำนวน 32 คลัง
แหล่งข่าวระบุอีกว่า "ทางคณะได้พยายามเร่งรัดให้ อคส.และ อ.ต.ก.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุโกดังกลาง/ไซโล และสอบสวนผู้กระทำผิดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อส่งต่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องร้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย โดยมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะครบอายุความในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และค่าเสียหายกรณีของนักการเมืองมีอายุความ 2 ปีจะครบในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ สำคัญมากต้องชี้แจงรายละเอียดพวกนี้ให้ประชาชน และที่สำคัญ ให้ นายพานทองแท้ ได้กระจ่างเสียที อย่าแสร้งลืม ควรทบทวนความทรงอันจำขมขื่นและตอกย้ำลงไปเสียบ้าง และนอกจากเรื่อง2สุดฉาวที่หยิบขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้พิจารณาแล้ว ทั้งนี้ยังมีอีกหลายคดีที่รัฐบาลทักษิณและเครือญาติ ได้กระทำเอาไว้ เป็นขี้ปากให้ประชาชนต้องวกมาด่ารัฐบาลนี้เสียได้ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ใช่ต้นเหตุ แต่ตัวต้นเหตุดันปลุกระดม เอาเรื่องที่ตัวเองทำไว้มาด่าคนอื่นแทน แบบนี้ก็มีด้วย...
สุดท้ายนี้อยากจะเรียนถามนายพานทองแท้ว่า นี่ไม่รู้จริงๆหรือว่าทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ใครเป็นคนทำ? ประเทศชาติเกือบจะล่มจม เพราะญาติใคร...?ช่างกล้านะคุณโอ๊ค...