- 17 ธ.ค. 2561
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ต้องเกาะติด และมีทีท่าว่าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากกรณี สปป.ลาวเตรียมปรับกลยุทธ์ใหม่ส่งไฟฟ้าผ่านไทย ไปยังประเทศที่สาม โดยพุ่งเป้าไปยังตลาดอาเซียน หลังมีการเผยว่ากำลังการผลิตของ สปป.ลาว มีมากเกินความต้องการ
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ต้องเกาะติด และมีทีท่าว่าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากกรณี สปป.ลาวเตรียมปรับกลยุทธ์ใหม่ส่งไฟฟ้าผ่านไทย ไปยังประเทศที่สาม โดยพุ่งเป้าไปยังตลาดอาเซียน หลังมีการเผยว่ากำลังการผลิตของ สปป.ลาว มีมากเกินความต้องการ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากสถานะผู้ซื้อมาเป็นตัวกลางคือผู้เชื่อมโยงระบบและมีโอกาสเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าในราคาไม่แพงอีกด้วย
จากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตก ที่ทำให้สปป.ลาวต้องประสบความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงด้านเศรษฐกิจ แต่ทางการก็ยังต้องเดินหน้านโยบายแบตเตอรี่ออฟเอเชียต่อไป ซึ่งไทยเองก็พร้อมที่จะเป็นทางผ่านไฟฟ้าให้ ทำให้โครงสร้างสายส่งไฟฟ้าเชื่อมไทยกับลาวที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่ 50 ปีก่อน บรรลุเป้าหมายในเวลาต่อมา
ในตอนนั้น ผู้แทนการไฟฟ้าสองประเทศไทยและลาว ลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู ปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าที่ซื้อขายระหว่างกัน ให้กำหนดแบบปีต่อปีเพื่อเป็นการสะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง จากเดิมที่ใช้อัตราคงที่มากว่าทศวรรษ ทั้งนี้ไทยและลาวนั้นสานสัมพันธ์ด้านการไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2508 จากการขาดแคลนพลังงานในลาว ที่ไทยเสนอความร่วมมือโครงการสร้างเขื่อนพลังน้ำในลาว 150 เมกะวัตต์ จนนำมาซึ่งข้อตกลงที่ว่าลาวจะขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้แก่ไทย
ต่อมาในปี 2511 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าชีวิตศรีสว่างวัฒนา แห่งราชอาณาจักรลาว ทรงกดปุ่มเปิดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งไทยที่ จ.หนองคาย ไปนครหลวงเวียงจันทร์ นับเป็นจุดเริ่มต้น จากสายส่งจุดแรกที่เชื่อมกันวันนั้น ปัจจุบันมีการลงทุนร่วมกัน 14 จุด และทำความตกลงขยายการรับซื้อไฟฟ้า เป็น 9,000 เมกะวัตต์
ทางด้าน คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ระบุว่า ปัจจุบันทางการลาวกำลังรอฟังการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ของประเทศไทยอยู่ว่ามีความต้องการมากเท่าใด จากข้อมูลปัจจุบันเผยว่าไทยและลาวใช้ไฟฟ้าร่วมกันเกือบ 7,000 เมกะวัตต์ แต่ต่อไปคาดการณ์ว่าการพัฒนาและขยายตัวของประเทศจะยิ่งมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ในระยะยาว สปป.ลาว มีการวางแผนว่าจะผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 20,000 เมกะวัตต์ แต่รัฐบาลลาวมีความเห็นว่าด้วยศักยภาพและทำเลในอนาคตจะสามารถผลิตได้ถึง 30,000 เมกะวัตต์ แม้ที่ผ่านมาไทยจะเป็นผู้ลงทุนที่ซื้อไฟฟ้าจากลาวมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ด้วยนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของไทยจากทุกภาคส่วน อาจทำให้การซื้อไฟฟ้าจากลาวลดลงไปบ้าง
อย่างไรก็ตามล่าสุดไทยกับลาวกำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการส่งไฟฟ้าผ่านไทย ไปยังประเทศที่สามแทน และได้เริ่มต้นด้วยการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้มาเลเซียผ่านไทย ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ มาแต่เดือนมกราคม 2561 และอาจเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ในอีกไม่ช้า พร้อมกับเปิดโอกาสให้ส่งออกไปยังสิงคโปร์ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถส่งจากไทยออกไปทาง อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปเมียนมา ได้อีกด้วย
ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไทย ระบุว่า "เรามีกำลังการผลิตมากเกินกว่าความต้องการของประเทศไทย ดังนั้น นอกจากให้ลาวผลิตเพื่อขายให้ไทยอย่างเดียวไม่เพียงพอ จึงได้พูดคุยกับลาวว่าจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่จะต้องมีสายส่งที่แข็งแรง จึงต้องมีการลงทุนในสายส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ระหว่างภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อความั่นคงของภูมิภาคด้วย"
การเปลี่ยนจากแค่ซื้อขายไฟฟ้ากลายเป็นผู้เชื่อมโยงระบบของไทย ทำให้ไทยไม่มีปัญหาขาดแคลน และได้ใช้ไฟในราคาไม่แพง ขณะเดียวกันยังมีบทบาทในภูมิภาค และสานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย