- 23 ธ.ค. 2561
อาจไม่ใช่เรื่องผิดแผกแปลกแยก...หากมองผ่านในความเป็น "ปุถุชนคนธรรมดา" ที่มีแรงขับทางเพศเพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์ ปฏิสัมพันธ์ทางเพศจึงเป็นเรื่องที่เป็นปกติสามัญ แต่ล้วนขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสังคมว่าจะมีขอบเขตและกำหนดให้เป็นไปอย่างไร...หากทว่าจักกลายเป็นเรื่องทำนองบัดสีก็ต่อเมื่อปรากฏต่อหน้าธารกำนัลให้ร่วมเป็นสักขีพยาน กับกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์คลิปสัมพันธ์สวาทที่สะพัดในโลกออนไลน์ขณะนี้ ระหว่างสองบุคคลที่กึ้งกึ่งจะเป็น "บุคคลสาธารณะ"
อาจไม่ใช่เรื่องผิดแผกแปลกแยก...หากมองผ่านในความเป็น "ปุถุชนคนธรรมดา" ที่มีแรงขับทางเพศเพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์ ปฏิสัมพันธ์ทางเพศจึงเป็นเรื่องที่เป็นปกติสามัญ แต่ล้วนขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสังคมว่าจะมีขอบเขตและกำหนดให้เป็นไปอย่างไร...หากทว่าจักกลายเป็นเรื่องทำนองบัดสีก็ต่อเมื่อปรากฏต่อหน้าธารกำนัลให้ร่วมเป็นสักขีพยาน
กับกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์คลิปสัมพันธ์สวาทที่สะพัดในโลกออนไลน์ขณะนี้ ระหว่างสองบุคคลที่กึ้งกึ่งจะเป็น "บุคคลสาธารณะ" ด้วยเพราะคนหนึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองตัวยง กับอีกหนึ่งที่สวมเสื้อนักการเมืองเต็มตัว
แน่นอนว่าคงยากที่จะจับมือใครดม ว่าใครหรือผู้ใดเป็นผู้บันทึกหรือมีเจตนาอันใด...ก็ยากเกินคาดเดา แต่ด้วยลำดับเหตุการณ์และด้วยรูปพรรณสัณฐานก็ทำให้ผู้ถูกกระทำดิ้นอย่างไรก็ไม่มีหลุด จนต้องออกมายอมรับโดยละม่อม แม้นฝ่ายหนึ่งที่เป็นชายจะพยายามเบี่ยงประเด็นว่าไม่ใช่ "ประเด็นสาธารณะ" ก็ตามแต่ ทว่าพฤติกรรมตลอดจนความเคลื่อนไหวทางสังคมของทั้งคู่นั้นก็เป็นไปในทางสาธารณะมาโดยตลอด จะไม่ให้นำมาซึ่งการขุดคุ้ยในแง่ความสัมพันธ์ตลอดจนสืบสาวเบื้องลึกเบื้องหลังจากประชาชนอย่างไรได้
ขณะเดียวกันฝ่ายหญิงก็โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กยาวเป็นพรืด แต่เมื่อนำมาคั้นจนเหลือแต่แก่น ก็เข้าใจได้ว่าเป็นการโบ้ยความผิดด้วยแฝงนัยตรงไปยัง "กองทัพ" มองในแง่มุม "จิตวิทยา" การโยนความผิดแก่ผู้อื่นเพื่อเป็นการผ่อนเพลาความเจ็บปวดที่ยากจะเผชิญก็พอทำเนา แต่อีกด้านหนึ่งด้วยทรรศนะของเธอที่ถือมั่นมาตลอดว่ากองทัพเป็นเสมือน "อริ" ก็ดูจะไม่แฟร์เท่าใดนัก เพราะดูเหมือนเธอจะ "อุปาทาน" ไปว่าเป็น ปฏิบัติการ "IO" (information operation) หรือ "การต่อต้านงานด้านการข่าว" ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการข่าวสารด้านการทหาร ซึ่งดูกลายว่าเธอจะสำคัญผิดว่ากองทัพจะให้ความสำคัญกับตนเองมากไปหรืออย่างไรไม่ทราบได้ แต่ก็ทำให้ "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. จำต้องออกมารับหน้าให้ความกระจ่างว่าไม่มีส่วนรู้เห็น และหยิบยื่นความปรารถนาดีแก่ประชาชนทุกคนว่า ถ้าเดือดร้อนก็ให้มาแจ้งได้เมื่อทราบแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้เกี่ยวข้องก็ต้องหาข้อเท็จจริงต่อไป
อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวก็ทำให้สังคมเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องมีสาระ อันเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจยิ่ง กับ "IO" ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นปฏิบัติการที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นภายหลังช่วงสงครามเย็น ด้วยเพราะเทคโนโลยีด้านการข่าวที่ก้าวกระโดดรวมถึง "การรบนอกแบบ" ที่มีความสลับซับซ้อน เข้ามาแทนที่ "การรบในแบบ"
แต่ครั้งหนึ่งในช่วง "สงครามโลกครั้งที่สอง" อันเป็นหน้าแรกของ "สงครามยุคใหม่" ก็เป็นต้นแบบของการปฏิบัติการ "IO" ในนาม "ปฏิบัติการบอดีการ์ด" ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมควรค่าแก่การศึกษาอย่างถึงที่สุด ก่อนวันชี้ชะตาที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเตรียมบุกขึ้นหาดนอร์ม็องดี การวางแผนต้องเป็นไปอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดการสูญเสียกำลังพลน้อยที่สุด จึงมีการจัดวางยุทธ์ศาสตร์วางแผนลวงเพื่อชักจูงให้เยอรมันเชื่อว่าการยกพลขึ้นบกจะคลาดเคลื่อนช้ากว่ากำหนดที่ทางเยอรมันได้รับรายงานจากสายข่าว...รวมถึงทำให้เยอรมันปักใจเชื่อว่าทางมพันธมิตรจะโจมตีสถานที่อื่นไม่ใช่หาดนอร์มังดี
สิ่งที่ทำให้เยอรมันหลงเชื่อเคือลมฟ้าอากาศในวันดีเดย์นั้นไม่เหมาะสมแก่การทำการรบ ตลอดจนนักวางแผนตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับปัจจัยแวดล้อมเช่นเหตุการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง ท้ายสุดแล้วเยอรมันจึงถอนกำลังบางส่วนเหลือไว้เพื่อตรึงกำลังเมื่ออำนาจการรบถูกตัดทอนลง ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีอำนาจการรบที่เหนือกว่าได้รับชัยสถาปนาหน่วยที่หาดนอร์มังดีได้สำเร็จในที่สุด
อีกหนึ่งตัวอย่างจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่กองทัพนำปฏิบัติการ "IO" มาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากยุทธการสังหาร 16 ศพของทหารหน่วยกองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วย ฉก.32 ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส การดำเนินงานด้านการข่าวของกองทัพนั้นมีบทบาทสูงยิ่งในพื้นที่เสี่ยง เพราะรูปแบบการรบมิใช่ "รัฐชนรัฐ" แต่มีความซับซ้อนในแง่ของการทำข่าวลับ การทำจารกรรม กำลังพลที่เป็นหัวหอกรับผิดชอบจึงต้องมีขีดความสามารถสูงเหนือกว่ากำลังพลทั่วไป
เหตุการณ์ดังกล่าวคือการ "ซ้อนแผน" และ "ปล่อยข่าวลวง" เพราะสายข่าวรายงานว่าจะมีการบุกหน่วยเฉพาะกิจของกองทัพ กองทัพจึงทำทีว่าได้ถอนกำลังรบหลักออกจากหน่วย แต่แท้จริงได้ทำการสลับชุดเข้าแทนที่คือหน่วยรบพิเศษขีดสมรรถนะสูงและมีศักยภาพทำการรบด้วยกำลังพลขนาดเล็กมากที่สุด ที่รู้จักกันดีในนาม "หน่วยซีล" พร้อมอาวุธครบมือ รวมถึงการวางกลไลทางยุทธวิถีเพื่อเตรียมรับมือผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อสมการลงตัวฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบหลงเข้าหลุมพรางจึงกลายเป็นฝ่ายปราชัย เพราะทางแหล่งความมั่นคงได้เปิดเผยภายหลังว่า หน่วยข่าวได้ประเมินสถานการณ์ตลอด หลังจากที่พบเบาะแสความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม จึงวางแผนลวงได้ง่ายทำให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบไม่ทันตั้งตัวเพราะโดนตลับหลังจนเสียชีวิตทั้งสิ้น 16 ศพ
อันจะเห็นได้ว่าปฏิบัติการด้าน "IO" ของกองทัพไม่ว่าจะประเทศใดก็ดีเป็นไปเพื่องานด้านความมั่นคงเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกองทัพไทยที่ให้ความสำคัญกับ "IO" ในด้านของการปฏิบัติการต่อต้านงานด้านการข่าว และการต่อต้านการข่าวกรองทางทหาร โดยจะปฏิบัติกับคู่กรณีที่มีพฤติกรรมต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ กลุ่มที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เท่านั้น