- 25 ธ.ค. 2561
ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่กับข้อเสนอการพยายามลดบทบาทและขนาดกองทัพที่มาจากฟากฝั่งนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ "พรรคอนาคตใหม่" ที่หนึ่งในนโยบายชูโรงคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างรวมถึงการใช้อำนาจของกองทัพ ต่อกรณีดังกล่าว ล่าสุดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้สร้างโพลล์สำรวจความคิดเห็นประชาชนในแฟนเพจเฟซบุ๊กของตน
ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่กับเสียงกู่ก้องร้องเรียกจากฟากฝั่งนักการเมืองที่ถือตนว่าเป็น "คนรุ่นใหม่"...ด้วยพยายามให้มีการลดบทบาทและขนาดกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ "พรรคอนาคตใหม่" ที่มีหนึ่งในนโยบายชูโรงคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างรวมถึงการใช้อำนาจของกองทัพ ต่อกรณีดังกล่าว ล่าสุดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้สร้างโพลล์สำรวจความคิดเห็นประชาชนในแฟนเพจเฟซบุ๊กของตน
ว่าด้วยเรื่อง "ปฏิรูปกองทัพ" ให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้วิธีสมัครแทน ยกเว้นเวลาเกิดศึกสงคราม, ปรับลดกำลังพลประจำการลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือเพียง 1.7 แสนนาย, ลดจำนวนนายพลจากปัจจุบัน 1,600 คน ให้เหลือเพียง 400 คน
ซึ่งมีผู้มาร่วมลงคะแนนแล้ว 2.61 หมื่นคน เห็นด้วยกับการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ร้อยละ 95 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 5 มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี กดไลค์ 4.5 พันคน แสดงความคิดเห็น 260 คอมเมนต์ และ 1,444 แชร์ ภายในระยะเวลา 5 ชั่วโมง โดยจะปิดโหวตภายในอีก 6 วันข้างหน้า
อย่างไรก็ตามจากข้อเท็จจริงบางประการตามข้อมูลเชิงสถิติ พบว่าจำนวนทหารเกณฑ์ที่กองทัพต้องการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี คือ 99,373 คน ในปี 58 101,307 คน ในปี 59 103,097 คน ในปี 60 และล่าสุด 104,734 คน ในปี 61 จากตัวเลขที่สูงขึ้นตลอดจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ กองทัพจึงถูกตั้งคำถามถึง "ความจำเป็น" ของ "กำลังพลสำรอง"
หนึ่งในนั้นคือนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลานชายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ปลดประจำการภายหลังสมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วยการยื่นวุฒิปริญญาตรี ลดระยะเวลาการประจำการจาก 2 ปี (กรณีจับใบดำใบแดง) เหลือเพียง 6 เดือน ได้เสนอให้ปรับปรุงระบบเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจ ซึ่งกระแสสังคมบางส่วนก็เห็นดีเห็นงามไปด้วย ถึงขนาดว่าเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารออกจากระบบการได้มาซึ่งกำลังพลสำรอง
จนทาง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ต้องออกมาให้ความมั่นใจว่ากองทัพจะดูแลทหารใหม่ให้ดีที่สุดประดุจน้องคนสุดท้องของหน่วยทหาร ด้วยการออกระเบียบใหม่เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการตลอดจนความปลอดภัยในการฝึก นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ว่าเป็นแค่เสียงของคนกลุ่มเดียว เพราะขณะนี้ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีทหาร ดังนั้นการยกเลิกการเกณฑ์จึง "เป็นไปไม่ได้"
หากพินิจอย่างถี่ถ้วน...แนวคิดการปรับโครงสร้างของกองทัพดังกล่าว อาจไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมนักในยามที่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภัยเสี่ยงกับสงครามอยู่แทบตลอดเวลาถึงแม้ว่า การรบในปัจจุบันจะเป็น "การรบนอกแบบ" ที่เน้นประสิทธิภาพของกำลังพลและต้องมีศักยภาพสูงกว่ากำลังพลทั่วไป และเน้นการปฏิบัติการด้วยกำลังพลขนาดเล็กหรือ "หน่วยรบพิเศษ" แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตรึงกำลังในพื้นที่เสี่ยงยังจำเป็นต้องใช้ปริมาณกำลังพลจำนวนมาก เพื่อข่มขู่และคานอำนาจเพราะยังเสมือนหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะนำพาภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
การนำเสนอแต่เพียง "ปฏิรูปกองทัพ" ด้วยการยกเลิกเกณฑ์ทหารนั้นอาจเป็นเพียงนโยบายที่ตื้นเขินแบบไม่ได้ลึกซึ้งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าที่ควร หรือสำหรับนายธนาธร อาจเป็นเพียงชุดความคิดที่ตกผลึกมาจากวาทกรรมที่เขานั้นประดิษฐ์ขึ้นมาเองคือ "ลบล้างผลพวงรัฐประหาร" สอดรับกับนโยบายของทางพรรคอนาคตใหม่ที่ดูจะตะบี้ตะบันมากเกินควร ซึ่งอาจเป็นการสำคัญผิดไปว่าปัจจัยที่ทำให้การรัฐประหารสำเร็จมาจาก "กำลังพล" จึงต้องปรับขนาดกองทัพเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารซ้ำซ้อน...แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้น เพราะบทเรียนประวัติศาสตร์ครั้งเมื่อ "กบฏเมษาฮาวาย" ที่ผู้ก่อการใช้กำลังพลกว่า 42 กองพันก็ยังต้องพ่ายด้วยตัวแปรอื่น...และอีกหนึ่งเหตุการณ์เมื่อครั้ง "อภิวัฒน์สยาม" ที่มีกำลังพลรบเพียงหยิบมือก็ยังลุล่วงมาแล้ว
สิ่งที่นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกหากหวังให้นโยบายเป็นเครื่องขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ได้คาดหวังผลทางการเมืองที่ฉาบฉวย การ "ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร" จึงอาจไม่ใช่คำตอบ แต่สิ่งที่ควรเสนอคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตพลทหาร หรือการรับรองค่าตอบแทนต่อเดือนที่เหมาะสมต่อค่าครองชีพ รวมถึงการกำจัดความรุนแรงอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งในส่วนนี้ตัว ผบ.ทบ. และกองทัพเองก็ให้ความสำคัญในการสอดส่องดูแลมาตลอด
หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจไม่ใช่เรื่องแปลกหากประชาชนจะผุดคำถามว่าพรรคอนาคตใหม่กำลังตั้งขั้วเป็นปรปักษ์ต่อกองทัพหรืออย่างไร...เพราะผลบั้นปลายคงไม่อาจเป็นอื่นได้นอกจากการพยายามใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงกองทัพ...เช่นนั้นเอง