- 26 ธ.ค. 2561
สืบเนื่องจากวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ประมง 22 จังหวัด นำโดยนายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ชุมนุมคัดค้านการรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปและได้ทำการสลายชุมนุมพร้อมยืนยันว่า จะกลับมาปักหลักในวันที่ 25-26 ธ.ค. เพื่อรอฟังผลอีกครั้ง
สืบเนื่องจากวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ประมง 22 จังหวัด นำโดยนายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ชุมนุมคัดค้านการรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปและได้ทำการสลายชุมนุมพร้อมยืนยันว่า จะกลับมาปักหลักในวันที่ 25-26 ธ.ค. เพื่อรอฟังผลอีกครั้ง
ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมายาวนาน...และมีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อการส่งออกอันจะสะท้อนกลับยังเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่รีบแก้ไขโดยเร็ว ทั้งยังเป็นปัญหาคาบเกี่ยวกับ"การค้ามนุษย์" กับการใช้แรงงานที่เกิดขึ้นในฝูงเรือประมง เพราะเป็นข้อเท็จจริงทีปรากฏว่า ภาคอุตสาหกรรมการประมงไทยนั้นมีผู้ประกอบการบางรายที่เป็นเจ้าของเรือ ทำการกดขี่แรงงานในสังกัดตนประหนึ่งเป็น "แรงงานทาส" เหล่านี้เองเมื่อผ่านสายตาของประชาคมโลกที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงย่อมเป็นเรื่องที่ "ยอมรับไม่ได้" อย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะมีท่าทีแสดงถึงความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็มิได้แสดงออกถึงความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร จนกระทั่งก่อนหน้านี้ไม่นานนักทาง ฮิวแมนไรท์วอทช์ (องค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศซึ่งทำวิจัยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน) ได้นำประเด็นดังกล่าว ไปอภิปรายบนเวทีโลกสาระสำคัญคือความกังวลต่อแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่ถูกริดรอทสิทธิ์ขั้นพื้นฐานทั้งไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เลวร้ายที่สุดคือแรงงานข้ามชาติ ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน จนทางประเทศไทยได้รับ "สัญญาณเตือน" ที่ทำเอารัฐบาลต้องนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาหาทางออกอย่างเร่งด่วน เพราะสหรัฐฯ ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่จับตามองระดับ Tier 2 ในรายงานการค้ามนุษย์ (TIP report) ซึ่งอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมการประมงไทยหยุดชะงัก จากการถูก "ห้ามส่งออก" อาหารทะเล ไปสหภาพยุโรป เนื่องจากปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)
เป็นความกดดันที่รัฐบาลปัจจุบันต้องแบกรับ ด้วยเพราะก่อนหน้านี้มีแนวโน้มว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้ "เซ็นสัญญา" ส่งออกอาหารทะเลเป็นประเทศแรกๆของอาเซียน แต่กลับกลายเป็นว่าต้องถอยหลังมาตั้งหลักกันใหม่...กระทั่งช่วงเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง เพื่อแก้ปัญหาไอยูยู ซึ่งการที่กระทรวงแรงงานจะผลักดันประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C 188 พร้อมให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 (2550)
มีสาระสำคัญคือ เป็นการกำหนดให้คนงานประมง มีสภาพการทำงานที่มีคุณค่าตามข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานบนเรือประมง อาทิ มีข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องอายุขั้นต่ำ มีใบรับรองแพทย์ก่อนลงเรือ มีเวลาพักขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงจาก 24 ชั่วโมง และ 77 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์มีทะเบียนลูกจ้าง สัญญาจ้าง การจ่ายค่าตอบแทนผ่านระบบบัญชีธนาคาร มีที่พัก อาหาร น้ำดื่มที่เพียงพอเหมาะสม มียารักษาโรคเบื้องต้นกรณีเจ็บป่วย มีช่องทางการติดต่อสื่อสารกับบนฝั่ง มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับสิทธิความคุ้มครองด้านการประกันสังคม และเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น
ซึ่งทาง รมว. ยืนยันว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันการทำงานบนเรือประมงให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work)ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานอย่างเหมาะสมตามหลักปฏิบัติสากล
ต่อกรณีดังกล่าว ทางสำนักข่าวทีนิวส์ได้ติดต่อสัมภาษณ์ คุณบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และได้รับข้อมูลที่น่าสนใจถึงความเป็นไปได้ที่จะนำกฏหมายดังกล่าวมาบังคับใช้ความว่า ทั้งหมดอยู่ที่ "การปรับตัว" เพราะถือเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทยที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานประมง ยกตัวอย่างจะเห็นได้วา มีเรือจำนวนน้อยมากที่มีการต่อเติมให้ถูกสุขลักษณะ การใช้ชีวิตของลูกเรือนั้นเป็นไปอย่างตามมีตามเกิด
ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอนุสัญญานั้น คือ กลุ่มของเรือประมงพาณิชย์ที่ถูกบังคับให้ต่อเติมเรือให้สอดคล้องกับกฏหมาย ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามที่กำหนดโดยเฉพาะในเรื่องของสวัสดิการแรงงาน อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าหลังจากนี้จะทำให้ตัวเลขของแรงงานประมงที่ถูกริดรอนสิทธิพื้นฐานลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เพราะต้องรอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาบังคับใช้กฏหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังจะยื่น สนช. เพื่อให้พิจารณาต่อไป
ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่าหลังจากนี้กลุ่มประมงพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะออกมาเคลื่อนไหวเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร