- 28 ธ.ค. 2561
ผลการสำรวจคะแนนนิยมที่ประชาชนต้องการบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งตามลำดับ (1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อวันที่28 ธ.ค.61 รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการโครงการสำรวจความนิยมของประชาชนต่อบุคคลและพรรคการเมืองที่จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 วิทยาลัยฯ ได้รวบรวมตัวอย่างจำนวน 8,000 ตัวอย่างตามโครงสร้างประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ตามภาคอาชีพ เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ ฯลฯ ใน 350 เขตเลือกตั้งใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยระดับความน่าเชื่อมั่นทางสถิติ 90 % ผลการศึกษาสรุปได้ดังต่อไปนี้ คือ
1. ผลการสำรวจคะแนนนิยมที่ประชาชนต้องการบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งตามลำดับ คือ (1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 26.04 % (2) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ 25.28 % (3) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 22.68 % (4) นายอนุทิน ชาญวีรกูล 9.23 % (5) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 9.9 % และ (6) อื่น ๆ รวมกัน 6.86 %
เปรียบเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่แล้วพบว่าคะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสภาวะมีเสถียรภาพพอสมควร เพราะสามารถสร้างคะแนนนิยมจากที่เคยได้น้อยกว่าคุณหญิงสุดารัตน์ขึ้นมานำได้สำเร็จ แต่คุณหญิงสุดารัตน์ นายอภิสิทธิ์ นายอนุทิน และนายธนาธรมีคะแนนนิยมสูงขึ้น ผู้ที่มีคะแนนนิยมสูงขึ้นรวดเร็วที่สุด คือ นายอนุทินที่เพิ่มขึ้น 6.97 % เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน คะแนนนิยมของคุณหญิงสุดารัตน์กับนายอภิสิทธิ์เพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกันคือ ราว 7 % ส่วนนายธนาธรคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นช้าสุดคือเพียง 0.22 % เท่านั้น
2. ในตารางที่ 2 เป็นการแสดงคะแนนนิยมของประชาชนที่ต้องการเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จำแนกตามภาคต่างๆ ของประเทศ ผลการสำรวจพบว่าคะแนนนิยม เป็นดังนี้ คือ
กรุงเทพมหานคร (1) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 32.65 % (2) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 26.93 % (3) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ 19.73 % (4) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 6.37 % และ (5) นายอนุทิน ชาญวีรกูล3.37 %
ภาคกลาง (1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 26.59 % (2) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ 26.0 % (3) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 19.91 % (4) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 9.61 % และ (5) นายอนุทิน ชาญวีรกูล 9.43 %
ภาคเหนือ (1) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ 28.6 % (2) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 27.81% (3) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 21.01 % (4) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 12.25 % และ (5) นายอนุทิน ชาญวีรกูล5.99 %
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (1) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ 27.73 % (2) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 24.38 % (3) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 19.15 % (4) นายอนุทิน ชาญวีรกูล13.78 % และ (5) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 10.23 %
ภาคใต้ (1) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 32.25 % (2) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 25.38 % (3) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ 18.53 % (4) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 8.76 % และ (5) นายอนุทิน ชาญวีรกูล 5.96 %
ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า (1) พรรคเพื่อไทยจะไม่สามารถผูกขาดชัยชนะแบบเด็ดขาดเหมือน ในอดีตอีกต่อไป เนื่องจากพรรคถูกพรรคพลังประชารัฐเข้ามาแบ่งคะแนนไปค่อนข้างมากในแง่ของตัวผู้นำพรรค และ (2) คะแนนนิยมในตัวนายอนุทิน ชาญวีรกูล เพิ่มขึ้นรวดเร็วทั่วทุกภาคในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งใน กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
(3) ในบรรดา 5 พรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยมมากที่สุด คะแนนนิยมส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชามีค่าเฉลี่ยเกือบเท่ากันแทบทุกภาค กล่าวคืออยู่ระหว่าง 25 – 27 % ในขณะที่หัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ จะมีคะแนนนิยมในแต่ละภาคแตกต่างกันค่อนข้างมาก อาทิเช่น คุณหญิงสุดารัตน์จะมีคะแนนนิยมดีที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนนายอภิสิทธิ์จะมีคะแนนนิยมดีที่กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ เป็นต้น (4) คะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์กับคุณหญิงสุดารัตน์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
3. ในตารางที่ 3 เป็นการสำรวจคะแนนนิยมของประชาชนตามภาคต่างๆ ที่มีต่อพรรคการเมือง
ผลการศึกษาพบว่าคะแนนนิยมของตัวบุคคลในตารางที่ 1 กับคะแนนนิยมพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกในตารางที่ 3 ไม่มีความแตกต่างกัน ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ที่จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีจะเลือกพรรคการเมืองพรรคนั้นด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ประชาชนตั้งใจที่จะเลือกตัวบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก คะแนนนิยมของพรรคการเมืองต่างๆ แต่บัดนี้เป็นต้นไป จะมาจากภาวะความเป็นผู้นำของตัวบุคคลที่ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาคนระดับล่างของสังคมและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสังคมรวมถึงปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ด้วย