- 15 ม.ค. 2562
สำหรับการเคลื่อนไหว"คนอยากเลือกตั้ง"ที่นับวันจะเหิมเกริมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการตราพระราชกฤษฎีกา ถือเป็นพระราชอำนาจของเบื้องสูงที่จะทรงใคร่ครวญ ความถูกต้อง ชอบธรรม ภายใต้บทบัญญัติกฎหมาย ซึ่งผู้ใดไม่อาจก้าวล่วงได้
จากการที่สำนักงานพระราชวังออกประกาศว่า ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 จะมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณี ซึ่งถือเป็นวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งสำหรับประชาชนคนไทย แต่ขณะเดียวกันก็มีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการเตรียมความพร้อมจัดพระราชพิธี เนื่องจากก่อนหน้านั้นเคยมีการพูดถึงกำหนดเลือกตั้งตามโรดแมปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
จากการที่สำนักงานพระราชวังออกประกาศว่า ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 จะมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณี ซึ่งถือเป็นวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งสำหรับประชาชนคนไทย แต่ขณะเดียวกันก็มีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการเตรียมความพร้อมจัดพระราชพิธี เนื่องจากก่อนหน้านั้นเคยมีการพูดถึงกำหนดเลือกตั้งตามโรดแมปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
และนี่คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นจากภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลคสช.มาโดยตลอด จนล่าสุดมีการแสดงเจตนาผ่านข้อความ และคำพูดสื่อนัยยะในทำนองที่มิบังควรหลายต่อหลายครั้ง
โดยเมื่อช่วงเย็นของเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2562 บริเวณแยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน กทม. ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” , น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ , นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมปราศรัย แสดงพลังในจุดยืน “ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลาการเลือกตั้ง” คู่ขนานไปพร้อมๆกับการจัดกิจกรรมดังกล่าวที่บริเวณศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วบริเวณ
นายสิรวิชญ์ หรือ จ่านิว ที่มีคดีความติดตัว และเคยถูกศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาลงโทษ ยังกล่าวอ้างในเชิงปลุกระดมว่า เนื่องจากข้อเรียกร้องความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งไม่ได้รับการตอบสนอง ทางกลุ่มขอยื่นคำขาดต่อรัฐบาล คสช. 3 ข้อ ดังนี้ 1.ไม่เลื่อนวันเลือกตั้งให้ล่วงเลยกว่าวันที่ 10 มี.ค. 2.ไม่ล้มการเลือกตั้งด้วยการใช้เล่ห์กล ข้ออ้าง หรือเทคนิคทางกฎหมายใดๆ และ 3.ไม่ต่อเวลาให้กับการอยู่ในอำนาจของตน ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความได้เปรียบ
“หากภายในวันที่ 18 ม.ค.ไม่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง เพื่อเปิดทางให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง มวลชนจะยกระดับการชุมนุมสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 17.00 น. วันที่ 19 ม.ค.2562”
ทั้งนี้ยังได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ตามโลกโซเชียล มีเนื้อหาระบุว่า..
นับตั้งแต่วันที่เรามารวมตัวกันที่นี่เมื่อ 8 มกราคม 2562 จนถึงวันนี้ ข้อเรียกร้องเพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้งก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง จนถึงวันนี้ เวลาได้ล่วงเลยจนการเลือกตั้งตามกำหนด 24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่รัฐบาลได้เคยให้คำมั่นไว้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกแล้วตามกฎหมาย อันถือว่าการเลื่อนเลือกตั้งและการตระบัดสัตย์ครั้งที่ 5 โดยหัวหน้า คสช. โดยมีประชาคมโลกเป็นสักขีพยาน ได้เกิดขึ้นแล้วโดยสมบูรณ์
วันนี้เราใกล้หมดความอดทนกับความปลิ้นปล้อนตลบแตลง และความพยายามในการใช้สารพัดข้ออ้างรวมถึงการใส่ร้ายป้ายสี เพื่อปิดปากสื่อและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง เราขอยื่นคำขาดต่อรัฐบาล คสช.
1. “ไม่เลื่อน” วันเลือกตั้งให้ล่วงเลยหลัง 10 มีนาคม 2562 เพราะจะสุ่มเสี่ยงให้ กกต. ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งภายในกรอบ 150 วันนับจากวันประกาศ พรป.เลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 อันอาจส่งผลทำให้การเลือกตั้งนั้นถูกชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นโมฆะ
2. “ไม่ล้ม” การเลือกตั้งด้วยเล่ห์กลหรือข้ออ้าง รวมถึงเทคนิคทางกฎหมายใดๆ ทั้งที่มีความพยายามทำอยู่ในวันนี้ และที่จะมีขึ้นในอนาคต
3. “ไม่ต่อเวลา” ให้กับการดำรงอยู่ในอำนาจของตนเอง ผ่านกลไกตามรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบ ไม่ว่าจะในรูปของการใช้เสียงของ ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งมาสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ใช้ความเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการใช้งบประมาณและโยกย้ายข้าราชการอย่างไร้การตรวจสอบระหว่างช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการเลือกปฏิบัติ เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ซึ่งล้วนแล้วแต่ถือเป็นการโกงการเลือกตั้งทั้งสิ้น
ภายในวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562 หากยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเปิดทางให้ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งได้ เราจะถือว่ารัฐบาลคสช. ได้แสดงออกอย่างชัดเจนที่สุดถึงความไม่จริงใจในการคืนอำนาจให้ประชาชน และเราจะยกระดับการชุมนุมสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เวลา 17.00 น. พบกันที่ถนนราชดำเนิน
ประเด็นที่สำคัญที่สังคมไทยต้องร่วมกันพิจารณามากขึ้น ก็คือการรับรู้พร้อมกันว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ดังกล่าว มีเจตนาใดแอบแฝงหรือไม่
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุกเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 27 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ระบุไว้ใน บทเฉพาะกาล
มาตรา 171 ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับและให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่า หนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
สำหรับ “พระราชกฤษฎีกา” คือ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย และพระราชกำหนด
โดยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าการตราพระราชกฤษฎีกา เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยระบุว่า...มาตรา 175 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
ทั้งสำหรับขั้นตอนการตราพระราชกฤษฎีกา เริ่มจากการรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องจะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดนั้นๆ เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา โดยร่างพระราชกฤษฎีกานั้น จะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้อง
เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว จะต้องนำร่างพระราชกฤษฎีกา ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกานั้นๆ นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จากนั้นจึงนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ต่อไป
ทั้งหมดทั้งมวลคือสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ที่นับวันจะเหิมเกริมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการตราพระราชกฤษฎีกา ถือเป็นพระราชอำนาจของเบื้องสูงที่จะทรงใคร่ครวญ ความถูกต้อง ชอบธรรม ภายใต้บทบัญญัติกฎหมาย ซึ่งผู้ใดไม่อาจก้าวล่วงได้ โดยเฉพาะขบวนการทางการเมืองต่าง ๆ ที่ใช้เรื่องประชาธิปไตยมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม