- 31 พ.ค. 2562
กลับมาแล้วสภาผู้แทนฯ!! คนไทยเจ็บต้องจำ “เสียงข้างมาก” ไม่ใช่คำตอบ เคยลากข้ามคืน“ร่างพ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย” สันดานโผล่!?
กลายเป็นอีกหนึ่งกระแสทางการเมือง นอกเหนือจากทิศทางการสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ที่วันนี้ไม่มีความหมายเป็นอย่างอื่น นอกเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับอีกฝ่ายที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำ 7 พรรคร่วม ก็ออกตัวเปิดทางให้เกิดการเมืองขั้วที่ 3 ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ มั่นใจสุดคณาว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เหมาะสมสุดเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าต่อต้านอำนาจคสช.
ท่ามกลางนิยามการจับขั้วจัดรัฐบาล ก็เกิดกระแสตามมาเรื่องรัฐบาลเสียงข้างมาก ข้างน้อย โดยความเห็นของบางฝ่าย ว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็สามารถไปต่อได้ ถ้ามีจริยธรรมการบริหารบ้านเมือง ไม่ทุจริต คอร์ปรัปชั่น แต่ก็มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ตามระบอบรัฐสภา คือสัญญาณอันตราย สุดท้ายรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ไปได้ไม่ถึงไหน
ทีนี้มุมกลับย้อนมาดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย ช่วงที่ผ่านมาที่เรียกว่าเป็นยุคประชาธิปไตย ผู้แทนราษฎรไทยได้ใช้หลักการเสียงข้างมาก ไปใช้ทำอะไรถึงก่อให้เกิดความขัดแย้งคนในชาติรอบใหม่ ทั้ง ๆ ที่ตัวแปรสำคัญในขณะนั้น อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นนักโทษหนีคดีอาญา และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นผู้บัญชาการทหารบก ไม่ได้มีสถานะเกี่ยวข้องใด ๆ เลยกับวังวนทางการเมือง
บันทึกทางประวัติศาสตร์ของสถาบันพระปกเกล้า ลำดับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า "เสียงข้างมาก" ก่อนจะเกิดเป็นวิกฤตใหญ่ประเทศ และพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ต้องเลือกตัดสินใจทำอย่างหนึ่ง อย่างใด เพื่อไม่ไห้คนไทยลุกขึ้นฆ่ากันเอง เหมือนในปี 2552 - 2553 เพราะสัญญาณขณะนั้นก็เริ่มแสดงให้เห็นว่า กองกำลังติดอาวุธ กำลังก่อตัวอีกครั้ง เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวของมวลชน กปปส.
บทเริ่มต้นของคำว่า “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” หรือ “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” คือ สิ่งสะท้อนความหมายได้อย่างตรงจุด กับพฤติการณ์สมาชิกผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก ในสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งเดินหน้าสุดลิ่มทิ่มประตู ในการผลักดัน “ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน”
เป็น “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น และคณะ จากนั้นมีการนำมาแก้ไข ดัดแปลง โดยคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ ฝ่ายรัฐบาล ใน มาตรา 3 และมาตรา 4
โดย .มาตรา 3 มีสาระสำคัญคือ ให้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การแสดงออก หรือความขัดแย้งทางการเมือง และรวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556 ทั้งนี้การนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่รวมถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ส่วนมาตรา 4 มีสาระสำคัญคือ ให้ระงับการดำเนินคดี การสอบสวน รวมถึงการพิจารณาที่อยู่ในกระบวนการ รวมถึงให้คนที่ต้องคำพิพากษาให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด และหากอยู่ในระหว่างการรับโทษให้ถือว่าการลงโทษสิ้นสุด
ถือเป็นการแก้ไข ดัดแปลง สาระสำคัญของร่างกฎหมาย โดย “เสียงข้างมาก” เพื่อให้ครอบคลุม รวมไปถึงการนิรโทษความผิด ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้เวลาพิจารณาต่อเนื่องในวาระ 2 และ 3 ยาวนานถึง 19 ชั่วโมง ช่วงระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2556
ก่อนลงมติเสียงข้างมาก จะดันทุรังให้ความเห็นชอบ 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น มีจุดยืนร่วมกับมวลชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านนอกสภาฯ พร้อมตัดสินใจวอล์คเอาท์จากที่ประชุม
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของการกระทำที่อ้างถึง “เสียงข้างมาก” ว่าด้วยการซิกแซกร่างกม.เพื่อเปิดช่องทางให้ ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศ อย่างผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่อาจต้านกระแสความจริงได้ว่า ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่เห็นด้วย “เสียงข้างมาก” ของผู้คนที่เรียกว่าผู้แทนราษฎร ก็ไม่อาจฝ่าฝืนได้
ส่วนหนึ่งพฤติการณ์ของการอ้าง “เสียงข้างมาก” ในยุครัฐบาลเพื่อไทย แต่ถูกบันทึกเป็นหนึ่งประวัติศาสตร์ของการนำเสียงประชาชน ไปใช้แสวงผลประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง โดยเฉพาะกับ นช.ทักษิณ ชินวัตร
แม้เวลาจะผ่านมานานพอสมควร นับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 เมื่อที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย แต่เหตุกรณีทางการเมืองว่าด้วยการใช้เสียงข้างมาก ก็ยังเป็นที่โจษขานไม่จบสิ้น และแสดงให้เห็นว่า “เสียงข้างมาก” ในความหมายของนักการเมือง จะสิ้นสภาพทันที ถ้าถูกนำใช้ในทางมิชอบ !!