"เพื่อไทย"ย้อนวันวาน 9 ธ.ค. หลังยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

"พรรคเพื่อไทย" เผยเรื่องราว วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

เพจเฟซบุ๊ก "พรรคเพื่อไทย" ได้โพสต์ข้อความ ระบุ วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ณ ขณะนั้น) ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน ตามกติกาประชาธิปไตยสากล หลังการชุมนุมของ ‘ กปปส.' (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นใบเบิกทางให้กับการรัฐประหาร ในนาม ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)’ ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557

 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ย้อนกลับไปก่อนที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างร้อนระอุ นับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มบริหารงาน ประชาชนบางส่วนแสดงท่าทีไม่พอใจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้ชิงจังหวะประกาศชุมนุมใหญ่ครั้งแรก ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 บริเวณสถานีรถไฟสามเสน โดยอ้างต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาวุฒิสภา พร้อมใช้ ‘การเป่านกหวีด’ เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงครั้งนี้

ก่อนจะยกระดับเป็น ‘กปปส.’ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ จัดตั้งสภาประชาชนเพื่อควบคุมการปฏิรูปประเทศ และ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องลาออกจากการเป็นหัวหน้ารัฐบาล เพื่อนำไปสู่การเสนอชื่อ ‘นายกฯ’ คนใหม่ โดยอ้างประเพณีการปกครอง มาตรา 3 และ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2550

ห้วงเวลานั้น ประชาชนจำนวนมากพากันเดินลงถนน เป่านกหวีดเพื่อเรียกร้องตามข้อเสนอของแกนนำ กปปส. แม้รัฐบาลในขณะนั้นจะถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมปรองดองที่ค้างวาระอยู่ในสภาทั้งหมด รวมถึงมีความพยายามที่จะเจรจาหาทางออกร่วมกับ กปปส. แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากข้อเรียกร้องต่างๆ ของกปปส. นั้นไม่ตรงกับข้อกฎหมาย

เมื่อการเจรจาไม่ได้ช่วยทุเลาความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างทางยังคงมีการยกระดับการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บ้างส่วนได้เคลื่อนมวลชนปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง โดยมีแกนนำสำคัญอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศจัดชุมนุมใหญ่ถึง 4 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556, วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556, วันที่ 1 ธันวาคม 2556 และวันที่ 9 ธันวาคม 2556

8 ธันวาคม 2556 พรรคประชาธิปัตย์เริ่มเคลื่อนไหว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำลูกพรรคแถลงลาออกจากการเป็น ส.ส. ทั้งหมด เพื่อเข้าร่วมนำม็อบ กปปส. โดยตรง สร้างแรงกดดันอีกทางให้รัฐบาลลาออก และเปิดทางให้นายกฯ คนกลางเข้ามาทำหน้าที่แทน ขณะที่ฝากฝั่งหน้าเพจเฟซบุ๊คของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้แสดงจุดยืนพร้อมจะยุบสภา เตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน แต่หากมีผู้ไม่ยอมรับการเลือกตั้งก็จะเป็นการยืดเวลาขัดแย้งออกไป เหมือนปี 2549 ที่เกิดภาวะสูญญากาศและเกิดการรัฐประหารตามมา จึงได้เสนอให้หาข้อยุติด้วยการทำประชามติ

9 ธันวาคม 2556 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงการณ์ยุบสภา ส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วยมาตรา 180 (2) แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว และประกาศวันเลือกตั้งใหม่เป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

สิ้นสุดแถลงการณ์ยุบสภา #ณวันนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หมดวาระการทำงาน นับเป็นการยุบสภาครั้งที่ 14 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถึงอย่างนั้น ท่าทีของ กปปส. ไม่ได้จบลงตาม แกนนำและผู้ชุมนุมยังคงยืนกรานให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน ปฏิเสธการเลือกตั้ง และรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกไปเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้เกิดการขัดขวางการเลือกตั้ง มาตั้งแต่เปิดให้มีการสมัครรับเลือกตั้ง จนถึงวันที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ประชาชนบางส่วนที่ต้องการใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งในวันนั้นเป็นโมฆะและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีมติ 6 ต่อ 3 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557

สามเดือนหลังจากนั้น กปปส. จึงยุติการชุมนุม หลังจากกลุ่มคณะรัฐประหารในนาม ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจสำเร็จ จนอาจกล่าวได้ว่าการชุมนุมประท้วงครั้งนั้น ถือเป็นใบเบิกทางชั้นดีให้กับการรัฐประหาร และนับเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งสำคัญอีกครั้ง

เพราะหลังจากนั้นประชาธิปไตยไทยได้ถูกทำลายและสูญหายไปตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร