- 14 ก.ค. 2566
"ก้าวไกล" ยื่นร่างแก้ มาตรา272 ปิดสวิตซ์ ส.ว. คืนอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ให้ประชาชน ชี้เป็นทางออกที่ดีที่สุด
วันนี้ (14 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยมี วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับเอกสาร สาระสำคัญของร่างคือการยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ชัยธวัช กล่าวว่า ส.ส. พรรคก้าวไกลได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ เสนอร่างฉบับนี้เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกฯ ให้แก่ประชาชน เนื่องจากการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ปรากฏชัดว่ามี ส.ว. งดออกเสียงถึง 159 คน ไม่มาประชุมอีก 43 คน หลายคนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ประสงค์ใช้อำนาจทำหน้าที่เลือกนายกฯ ขอให้เป็นเรื่องของ ส.ส. ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง
ส.ส. พรรคก้าวไกลในฐานะสมาชิกรัฐสภา จึงเสนอทางออกให้ ส.ว. ในเมื่อท่านไม่ประสงค์จะใช้อำนาจนี้ด้วยความกระอักกระอ่วนใจหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ในการโหวตพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ทางนี้จึงจะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ทั้ง ส.ว. ทั้งระบบรัฐสภาของประเทศ ทำให้การเมืองไทยเดินหน้าต่อไปได้ และมีรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุด
เลขาธิการพรรคก้าวไกลชี้แจงต่อคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยว่า คาดว่าระยะเวลาที่รัฐสภาพิจารณาร่างฉบับนี้ ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะเสนอแก้ไขเพียงมาตราเดียว และการพิจารณาสามารถดำเนินการคู่ขนานกับการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ได้ โดยหลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะดำเนินการขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ต่อไป
พร้อมกับย้ำว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิก ม.272 ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอหลายครั้งในสภาชุดที่แล้ว และ ส.ส. พรรคที่เป็นฝั่งรัฐบาลในเวลานั้น เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ก็เคยออกเสียงสนับสนุน รวมถึง ส.ว. มากกว่า 60 คนก็เคยเห็นชอบ จึงเชื่อว่าครั้งนี้ไม่น่ามีปัญหา
ทั้งนี้ ได้แจ้งการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อพรรคเพื่อไทยเป็นการเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากพรรคก้าวไกลต้องการให้กระบวนการนี้ใช้เวลาสั้นที่สุด จึงไม่สามารถรอให้สมาชิกจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลพรรคอื่นๆ มาร่วมเซ็นด้วย ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลยื่นร่างนี้เพียงพรรคเดียว ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยและอีก 6 พรรค จะไม่เห็นด้วยหรือขัดข้องแต่อย่างใด
“ในเมื่อ ส.ว. มีมโนธรรมสำนึกว่าท่านไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นเพื่อให้ท่านไม่ต้องทำอะไรที่ขัดกับมโนธรรมสำนึก ก็แก้ไขยกเลิกมาตรานี้เสีย เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกให้ประชาชน และเมื่อประชาชนตัดสินใจไปแล้ว จะถูกจะผิดอย่างไรท่านก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะท่านอ้างว่าถ้าตัดสินใจก็ต้องรับผิดชอบ ท่านจึงไม่ตัดสินใจ หนทางนี้จึงเป็นการหาทางออกให้ทุกฝ่าย เป็นทางออกที่ดีที่สุด และต้องถามไปยัง ส.ว. หลายท่านที่ได้แสดงออกมาก่อนหน้านี้ว่าตนเองไม่อยากเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯ ท่านยินดีหรือไม่ที่จะช่วยกันเอาอำนาจของท่านออกไป และคืนอำนาจนี้ให้ประชาชน” ชัยธวัชกล่าว
ด้าน ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่สภาตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสาร โดยจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด