- 05 ต.ค. 2566
เส้นทางชีวิต ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมืองมือเก๋าฝีปากกล้า บุรุษผู้สร้างสีสันแก่การเมืองไทยกว่า 40 ปี ....
หากเอ่ยถึงนักการเมืองไทยที่ประชาชนรู้จักเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นชื่อของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นักการเมืองมือเก๋าฝีปากกล้า ดีกรี ส.ส.หลายสมัยเป็นที่เคารพของส.ส.รุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชาชนส่วนมากจะคุ้นชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นอย่างดี แต่ก็น่ามีประชาชนจำนวนมากอยู่ที่ยังไม่รู้ถึงความเป็นมาของชายผู้นี้ ดังนั้นเราจะมาเล่าถึงประวัติ ร.ต.อ.เฉลิม หรือชื่อที่คนเรียกกันติดปากว่า "เหลิม" กัน
เส้นทางเข้าสู่วงการตำรวจ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนเข้าสู่วงการตำรวจ ร.ต.อ.เฉลิม ได้อยู่ในวงการทหารมาก่อน ดำรงตำแหน่งเป็นสิบเอก ทำหน้าที่เป็นครูฝึกโรงเรียนสารวัตรทหาร เป็นระยะเวลา 7 ปี อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม กลับพบว่า สวัสดิการของทหารไม่ได้ดีเท่าตำรวจ โอกาสก้าวหน้ายาก และตัวเองก็เป็นลูกตำรวจ จึงได้ขอย้ายสังกัดไปอยู่กองปราบปรามแทน เปลี่ยนยศจาก สิบเอก เป็น สิบตำรวจเอก
หลังจากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้สอบชิงทุนไปเรียนปราบจลาจลที่ประเทศมาเลเซีย ต่อมาก็ได้ไปอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เพื่อเลื่อนขั้นเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ได้ฝึกงานที่สถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ กระทั่งได้ติดยศเป็น ร.ต.ต. ขยับเป็น ร.ต.ท. และไปถึง ร.ต.อ. โดยใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้น พร้อมกับได้รับการแต่ตั้งเป็นสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม
ร.ต.อ.เฉลิม ได้เข้าร่วมยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ร่วมกับกลุ่มทหารหนุ่มในระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน 2524 โดยนำกำลังตำรวจจำนวน 370 นาย เข้ายึดสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ แต่การยึดอำนาจไม่สำเร็จ ทำให้ถูกจับกุมในข้อหากบฏและถูกปลดออกจากราชการแม้ภายหลังรัฐบาลจะออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแต่ร้อยตำรวจเอกเฉลิมไม่ได้กลับเข้ารับราชการและตัดสินใจเข้าสู่วงการเมือง
ชีวิตครอบครัว
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สมรสกับ ลำเนา อยู่บำรุง ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชน มีบุตรด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน คือ นายอาจหาญ อยู่บำรุง, นายวัน อยู่บำรุง และ พ.ต.ท. ดวง อยู่บำรุง
ชีวิตในวงการการเมือง
ร.ต.อ.เฉลิม ได้เข้าสู่วงการการเมืองเป็นครั้งแรกในฐานะผู้ที่ร่วมพยายามรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2524 อย่างไรก็ตาม การก่อการครั้งนั้นล้มเหลว ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ถูกปลดออกจากข้าราชการตำรวจ พร้อมกับรับข้อหาเป็นกบฏ อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้รับการนิรโทษกรรมในภายหลัง ดังนั้นจึงมีคนชวนให้กลับไปรับราชการตำรวจอีกครั้ง แต่ว่า ร.ต.อ.เฉลิม ก็ตัดสินใจหันหน้าเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว
การประเดิมเส้นทางการเมืองของ ร.ต.อ.เฉลิม เริ่มจากการเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2526 กระทั่งเข้าสู่ปี 2529 จึงได้ก่อตั้งพรรคมวลชนขึ้น ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค ใช้พื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี เป็นพื้นที่ฐานเสียง ซึ่งก็คือ เขตภาษีเจริญและเขตบางบอน และได้ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ปี พ.ศ. 2529-2533) มีหน้าที่ดูแลองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้รัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศสวีเดนและประเทศเดนมาร์ก พร้อมกับมีข้อหาร่ำรวยผิดปกติติดตัวด้วย จนถูกยึดทรัพย์จำนวน 32 ล้านบาท ทว่าเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ร.ต.อ.เฉลิม จึงได้กลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้ง และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. 2538-2539) ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2551) ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พร้อมกับยุบพรรคมวลชน รวมกับพรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต
เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ได้พ้นสภาพ เปลี่ยนยุคเข้าสู่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่สอง ต่อด้วยรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร ในช่วงนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองมากนัก ดังนั้น ใน ปี 2547 ร.ต.อ.เฉลิม จึงได้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ได้คะแนนเสียงมากเป็นลำดับที่ 4 ส่วนผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น ได้แก่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์
จบจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2547 ร.ต.อ.เฉลิม ยังคงหายหน้าหายตาไปจากวงการการเมืองต่อไป จนกระทั่งพรรคไทยรักไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ปี 2550 พร้อมกับตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 111 คน ทางกลุ่มไทยรักไทยเดิมจึงได้ย้ายเข้ามาร่วมพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคสำรองแทน พร้อมกับตั้งนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค โดยที่ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้เข้าร่วมพรรคพลังประชาชนในครั้งนี้ด้วย แล้วก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.
ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ร.ต.อ.เฉลิม รั้งตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ว่าดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 เดือนก็ถูกปรับออก ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายหลัง ในยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่สุดท้าย ร.ต.อ.เฉลิม ก็ดำรงตำแหน่งได้ไม่นานอีกเหมือนเดิม สืบเนื่องมาจากพรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบพรรคในเดือนธันวาคม 2551 ดังนั้น ร.ต.อ.เฉลิม จึงได้ย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคสำรองของพรรคพลังประชาชนแทน
หลังจากการยุบพรรคพลังประชาชน ขั้วอำนาจทางการเมืองก็เปลี่ยนจากกลุ่มของ นายทักษิณ เป็นกลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แทน ซึ่งทาง ร.ต.อ.เฉลิม ก็ทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน
ปี 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ยุบสภาก่อนครบวาระ พร้อมกับเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกครั้ง รั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในปีพ.ศ. 2556
ทั้งนี้ในระหว่างการชุมนุมของ กปปส. ร.ต.อ.เฉลิม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
กระทั่งในปี 2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดเฉพาะตัว ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีรักษาการ จนนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองและการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
จากนั้นในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยไม่ได้ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้กลับเข้ามาเป็น สส. แต่มีทายาทางการเมืองเข้ามาในสภาแทนคือ นายวัน อยู่บำรุง สส. กทม. เขตบางบอน และในการเลือกตั้งปี 2566 ร.ต.อ.เฉลิม ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้รับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี
ฉายาเฉลิม
ผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาล ได้มอบฉายาแก่ ร.ต.อ.เฉลิม ในแต่ละปี ช่วงที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางการเมือง มีดังนี้
ปี 2552 : ดาวดับ เนื่องจากในช่วงนั้น ร.ต.อ.เฉลิม เป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน แต่กลับถูกวิจารณ์ว่า เป็นฝ่ายค้านที่อภิปรายได้ไม่สมศักดิ์ศรี ไม่มีสาระการอภิปราย มีแต่วาจาเชือดเฉือนกันเท่านั้น
ปี 2554 : กุมารทอง คะนองศึก เนื่องจาก ร.ต.อ.เฉลิม ทำงานให้ นายทักษิณ เต็มที่ แต่ในบางครั้งก็ชอบไปข้องเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เพื่อหวังสร้างข่าว
ปี 2555 : กันชนตระกูลชิน เนื่องจากเรียกได้ว่า ร.ต.อ.เฉลิม คอยเป็นบอดี้การ์ดป้องกัน พนายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์อยู่เสมอ ใครกล่าวพาดพิง ร.ต.อ.เฉลิม ท้าชนหมด
นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังได้ถูกตั้งฉายาจากสมาคมผู้สื่อข่าวอาชญากรรมอีกด้วย เนื่องจากมีหน้าที่ดูแลด้านยาเสพติด และงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย ร.ต.อ.เฉลิม ได้รับฉายา ดังนี้
ปี 2554 : สารวัตรนักใบ้คำ เนื่องจาก เวลา ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคดีสำคัญ มักใช้อักษรย่อใบ้ถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเสมอ
ปี 2555 : เหลิม ฉะดะ เพราะเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังเคยปล่อยวาทะเด็ดอันลือลั่นเกี่ยวกับตัวเองอีกด้วย นั่นคือ "ไปทะเลเจอฉลาม มาสภาเจอเฉลิม" จนหลายคนจำไม่ลืม
ล่าสุดในปี 2566 มีกระแสข่าวลือสะพัดว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวกับคนใกล้ชิดว่า ร.ต.อ.เฉลิม นั้น กวนโอ๊ย ทำให้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม รู้ ก็เกิดปรี๊ดแตกอย่างหนัก ประกาศตัดขาดนายทักษิณ ทันที ซึ่งกระแสข่าวนี้ในเวลาต่อมาทาง นายวัน อยู่บำรุง ลูกชายก็ออกมาไลฟ์สดชี้แจงว่าตนไม่ทราบถึงที่มาข่าวนี้พร้อมกับบอกว่าขอกลับไปถามพ่อก่อนว่าเรื่องจริงเป็นยังไง ทั้งนี้เป็นที่แน่นอนว่าเมื่อข่าวออกไปชื่อของ ร.ต.อ.เฉลิม ได้กลับมาเป็นที่ความสนใจจากสังคมอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปนาน พร้อมกับการจับตาความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลอยู่บำรุง กับ ตระกูลชินวัตร ว่าจะเดินร่วมทางกันต่อหรือจะโบกมือลา
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ชายที่ชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ตั้งแต่เข้ารับราชการตำรวจ สู่เส้นทางการเมือง เท่านนั้น ซึ่งเรียกได้ว่า "เหลิม" คนนี้ ได้สร้างสีสันให้กับวงการการเมืองไทยมาอย่างยาวนานและการเคลื่อนไหวเพียงนิดเดียวก็สามารถสะเทือนทั้งสภาได้อย่างง่ายดาย