- 10 ต.ค. 2565
วราวุธ จัดเต็มนำทีมสำรวจลงพื้นที่ใต้น้ำ ก่อนเปิดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เข้มผู้ประกอบการฝ่าฝืนใช้เรือใหญ่ รับ-ส่ง นักดำน้ำ งดเข้าพื้นที่ 2 เดือน หากทำผิดซ้ำ งดเข้าพื้นที่ตลอดฤดูกาล
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงฯ นำโดย นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากทั้งสองกรม ดำน้ำลาดตระเวนพื้นที่ใต้น้ำบริเวณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา เพื่อสำรวจความสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ก่อนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวในวันที่ 15 ตุลาคม 2565 นี้
สำหรับภารกิจในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ภารกิจ เริ่มจากภารกิจแรก ดำน้ำลึกเพื่อซ่อมแซมทุ่นจอดเรือ บริเวณประติมากรรมใต้น้ำ (Zodiac) เพื่อให้เรือเข้าเทียบท่าได้ ภารกิจที่2 ดำน้ำตรวจสอบความสมบูรณ์บริเวณจุดดำน้ำลึก เรือนกล้วยไม้ (East of Eden) ภารกิจสุดท้าย ดำน้ำเก็บขยะ บริเวณอ่าวไฟแว๊บ เกาะสิมิลัน ร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัคร โดยในแต่ละจุดใช้เวลาดำประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
จากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่าระบบนิเวศส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สาเหตุเกิดจากมีคำสั่งปิดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม - วันที่ 15 ตุลาคม 2565 เป็นระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งช่วงนั้นเป็นหน้ามรสุมที่จะปิดในทุกปี จึงเป็นโอกาสอันดี ที่ระบบนิเวศบริเวณรอบเกาะจะได้พักฟื้น นอกจากนี้ทีมสำรวจยังพบปะการังฟอกขาวเพียงเล็กน้อย อีกทั้งยังพบสัตว์น้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ แต่จากการประเมินภาพรวมทั้งหมดแล้ว อาจจะเปิดให้ดำน้ำได้บางจุดเท่านั้น เพราะมีบางจุดที่ความอุดมสมบูรณ์ ของระบบนิเวศยังไม่ 100 % เช่น บริเวณเรือนกล้วยไม้ จึงต้องปิดเพื่อให้ระบบนิเวศได้ฟื้นฟูต่อไป
นายวราวุธกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตนยังได้เน้นย้ำไปถึง ครูดำน้ำทุกท่านให้ดูแลลูกศิษย์ที่มาดำน้ำให้ดี อย่าสัมผัสหรือไปโดนปะการัง รวมไปถึงการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการใช้เรือเล็กรับ-ส่งนักดำน้ำ แทนเรือขนาดใหญ่ ไปยังจุดดำน้ำลึก เพราะอาจจะเป็นอันตรายแก่นักดำน้ำด้วยกันเองได้ หากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน โทษคือ งดเข้าอุทยานฯ เป็นเวลา 2 เดือน หากยังฝ่าฝืนครั้งต่อไปคือ งดเข้าพื้นที่ตลอดทั้งฤดูกาล เป็นระยะเวลา 7 เดือน
อีกทั้งยังได้กำชับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ติดป้ายเตือนเรื่องการใช้ “ครีมกันแดด” เนื่องจากสารในครีมฯ เป็นตัวที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อปะการังมากที่สุด และอาจก่อให้เกิดปะการังฟอกขาวได้ สำหรับสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังได้แก่ 1.Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) 2.Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 3. 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC)4.Butylparaben
อย่างไรก็ตาม การลาดตระเวนใต้ผืนน้ำในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ ของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ผืนทะเล โดยทุก ๆ วัน เจ้าหน้าที่ฯ จะต้องแบ่งทีมออกลาดตระเวนตามหมู่เกาะต่าง ๆ รวมถึงใต้ผืนน้ำในเขตพื้นที่อุทยานฯ เพื่อตรวจตรา หรือเฝ้าระวังภัยไม่ให้มีผู้ใดมาทำลายความสวยงามของธรรมชาติ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ผืนทะเล และเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า จึงเป็นตำแหน่งที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยปกป้องสมบัติอันมีค่านั้นคือธรรมชาติ เพื่อลูก หลานของเราในอนาคต