- 04 พ.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงอันตรายจากการบริโภคผักดิบ 5 ชนิด ขึ้นชื่อว่า “ผัก” คือชื่อก็รู้แล้วว่ามีประโยชน์แค่ไหน เพราะเป็นทั้งแหล่งรวมวิตามิน สารอาหารมากมาย การที่คนเรากินผักกันเป็นจำนวนมากก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอีกเช่นกัน ถ้าในเมนูอาหารไทยบ้านเรา ที่นิยมนำ “ผักสด” หรือ “ผักแกล้ม” มาทานคู่กับอาหารจานโปรดหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริก แกงเผ็ดหรือ ก้วยเตี๋ยว
แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งของการบริโภคผักสดที่เราคิดว่าดีนั้น แฝงไว้ซึ่งอันตรายบางอย่าง ที่เราคาดไม่ถึง เราจะมีวิธีระมัดระวังก่อนการกินได้อย่างไรได้เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหิดลออกโรงเตือนกันแล้วว่า ผักชนิดใดบ้างที่หากทานสุกแล้วจะดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าทานดิบจะเป็นอันตรายเลยเชียว
“5 ผักต่อไปนี้กินสุกดี ห้ามกินดิบ”
1. ถั่วงอก
ถั่วงอกดิบพบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียอย่าง ซาลโมเนลลา หรืออีโคไล ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านเราท่านั้น ที่ต่างประเทศก็พบการปนเปื้อนของเชื้อโรคเช่นกัน เมื่อทำการเพาะถั่วงอก ความชื้นและอุณหภูมิของถั่วงอกในการเจริญเติบโต เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเช่นเดียวกัน แต่หากเรานำมาปรุงผ่านความร้อน เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกทำลาย เราจึงสามารถทานถั่วงอกได้ปลอดภัยมากขึ้น
2. กะหล่ำปลี
คนที่ปัญหาเกี่ยวกับไฮโปไทรอยด์ หรือการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ หากรับประทานผักที่มีกอยโตรเจน เช่น กะหล่ำปลี หรือกะหล่ำดอก สารกอยโตรเจน จะเข้าไปยับยั้งการดูดซึมไอโอดีน ยิ่งทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้องลงไปกว่าเดิมอีก ดังนั้นควรทานผักเหล่านี้โดยทำไปปรุงให้ผ่านความร้อนจะดีกว่า
แต่คนปกติทานได้ไม่มีปัญหา จะมีเรื่องกังวลแค่สารฆ่าแมลงที่อาจตกค้างได้เท่านั้น อาจจะต้องล้างให้สะอาด โดยแยกออกมาเป็นใบๆ ก้านๆ
3. หน่อไม้ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง
มันฝรั่ง มันสำปะหลัง และหน่อไม้ดิบ อาจมีสารไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายถึงขั้นเสียชีวิตได้ สารไซยาไนด์จะสลายหายไปได้ ต้องผ่านความร้อนโดยการต้มนานมากกว่า 10 นาทีขึ้นไป
4. ถั่วฝักยาว
บางคนอาจเคยมีอาการท้องอืดหลังทานถั่วฝักยาวดิบ อาจเป็นที่ระบบลำไส้ของแต่ละคนมากกว่า แต่เรื่องที่ต้องระมัดระวังจริงๆ คือ ถั่วฝักยาว เป็นกลุ่มพืชที่มีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชสูง ซึ่งอาจทำให้ตัวถั่วฝักยาวเองดูดซึมสารเหล่านั้นเข้าไปด้วย ปกติสารเหล่านี้จะต้องใช้เวลาจนกว่าจะสลายไปราวๆ 7 วัน แต่กว่าจะถึงมือเรา เราไม่อาจทราบได้ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไรแล้ว
หากถั่วฝักยาวมารับประทานเอง ควรล้างให้สะอาด เอามือถูถั่วฝักยาวซ้ำๆ และอาจต้องมีการแช่น้ำทิ้งไว้ด้วย เพราะเป็นพืชที่มีการดูดซึมสารพิษตกค้างจากยากำจัดศัตรูพืชค่อนข้างมาก
5. ผักโขม
กรดออกซาลิกในผักโขม อาจเข้าไปขัดขวางกระบวนการทางร่างกายที่จะดึงเอกแคลเซียม และธาตุเหล็กไปใช้ แม้ว่าเราจะทานอาหารที่มีแคลเซียม และธาตุเหล็ก แต่หากเราทานผักโขมเข้าไปด้วย อาจทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม และธาตุเหล็กได้น้อยลง ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงในการทานพร้อมกัน
วิธีทานผักอย่างปลอดภัย
หากเรามีข้อกังวลกับผักในเรื่องของสารตกค้างจากสารเคมี และยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช วิธีลดความเสี่ยง คือการล้างผักให้สะอาด อาจแช่น้ำทิ้งไว้ 10 นาทีก่อนล้างอีกครั้ง
ส่วนเรื่องของแบคทีเรีย การล้างผักให้สะอาดนั้นไม่สามารถลดแบคทีเรียที่ถูกดูดซึมเข้าไปในผักได้ วิธีแก้ไขง่ายๆ คือนำไปปรุงอาหารผ่านความร้อน เชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่จะสลายไปเมื่อผ่านความร้อนที่เหมาะสม ก็จะทำให้เราทานผักได้อย่างปลอดภัยแล้ว
ขอบคุณที่มาจาก : สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล