- 06 เม.ย. 2565
เทียบอาการ โควิดโอไมครอนกลายพันธุ์ทั้ง 5 เหมือนหรือต่างกัน แน่นอนผู้ที่มีโรคประจำตัวไม่ควรชะล่าใจ ต้องระวังมากที่สุด
ยังต้องป้องกันอย่างเข้มงวดและระวังอยู่ทุกฝีก้าว กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ล่าสุดจากรายงานผู้ติดเชื้อโควิดในไทยล่าสุดนั้น ทางสธ.ได้ให้ข้อมูลว่า พบผู้ป่วยในไทยรายใหม่ยืนยันแล้ว 24,252 ราย สำหรับผู้ป่วยที่รู้ผลจากการตรวจด้วย ATK 26,941 ราย มีผู้เสียชีวิต 94 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 1,845 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 782 ราย
โดย โควิด ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็น โควิดกลายพันธุ์ ที่ แพร่กระจายมากที่สุด อย่างโอไมครอน ทว่า เจ้า โอไมครอนโควิด ตอนนี้ได้ แตกออกเป็น 5 สายพันธุ์แล้ว ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีอาการและความรุนแรงเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร ประชาชนต้องเฝ้าระวังอย่างไรบ้าง วันนี้ทีมข่าวไทยนิวส์จะพาไปศึกษาเพื่อจะได้สังเกตอาการตัวเองถูก หากมีความเสี่ยงสูง
เริ่มกันที่ โอไมครอน สายพันธุ์ BA.1 ที่ ค้นพบครั้งแรกที่ทวีปแอฟริกาใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2564 โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในระดับน่ากังวล มีรหัสไวรัสคือ BA.1 ปัจจุบันมีการระบาดลามไปในหลายประเทศทั่วโลกแล้วและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะสามารถแพร่เชื้อและเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เบตา และเดลตา รวมทั้งยังมีแนวโน้มต้านประสิทธิภาพวัคซีนอีกด้วย คนที่เคยติดเชื้อโควิด มีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้จากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน
ต่อมาคือ โอไมครอน สายพันธุ์ BA.2 สายพันธุ์นี้ ถูกค้นพบเมื่อเดือนมกราคม 2565 ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้ออกมาเผยว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 แม้จะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่ไม่พบความรุนแรงที่แตกต่าง หรือมากไปกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่อย่างใด
แต่ สิ่งที่น่ากังวลก็คือโอไมครอน สายพันธุ์ BA.2 แพร่เชื้อได้มากกว่าโอมิครอนตัวแม่ถึง 30% และยังหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนได้ดีมากขึ้นกว่าโอมิครอนตัวแม่ จนเป็นที่มาของฉายา โอมิครอนล่องหน ทำให้ขณะนี้ โอมิครอน BA.2 กลายเป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์หลักที่ครองโลก พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดเกือบ 86% ของผู้ติดโควิดทั้งหมดทั่วโลก
ถัดมาอีกสายพันธุ์คือ โอไมครอน สายพันธุ์ BA.2.2 ตัวนี้ ถูกค้นพบเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ฮ่องกง ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของโอมิครอนเดิมที่ระบาดอย่างหนักในฮ่องกงจนพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ เป็นสายพันธุ์ที่หลายคนกังวล เพราะมีผู้เสียชีวิตในฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้น จนมีสถิติสูงสุดในโลก
ทว่าจากการที่พบผู้ป่วยสายพันธุ์ BA.2.2 ในไทย ไม่มีอาการรุนแรง และไม่พบผู้เสียชีวิตมากไปกว่าสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงการแพร่เชื้อก็ไม่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง หรือหลีกหนีวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ เหตุผลที่ทำให้สายพันธุ์ BA.2.2 ในไทยไม่ระบาดหนักเหมือนที่ฮ่องกง เป็นเพราะว่ามีสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 มาจับจองพื้นที่ระบาดไปก่อนแล้วนั่นเอง
สายพันธุ์ที่หลายคนได้ยินชื่อเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ โอไมครอนสายพันธุ์ XE ซึ่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ XE ที่ผสมกันระหว่างโอมิครอน BA.1+BA.2 ว่าอาจเป็นเชื้อโควิด ที่แพร่กระจายรวดเร็วที่สุด โดยถูกพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ขณะนี้มีคนติดเชื้อแล้วกว่า 600 ราย ขณะที่ฮ่องกงยืนยันพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน XE แล้ว 2 ราย และพบผู้ติดเชื้อที่ไทยแล้ว 1 ราย
และสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ โอมิครอนสายพันธุ์ XE พัฒนาความสามารถด้านการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ BA.2 ถึง 10% และแพร่ได้รวดเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1) ถึง 43% จากนี้ไปต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสายพันธุ์ลูกผสม "XE" จะกลายเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลก และเข้ามาแทนที่ BA.2 ได้หรือไม่
โอไมครอน สายพันธุ์ XJ นอกจากสายพันธุ์ XE แล้ว ตอนนี้ยังมีโอมิครอนสายพันธุ์ XJ ซึ่งเป็นโควิดลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BA.1 และ BA.2 ซึ่งพบครั้งแรกที่ประเทศฟินแลนด์ และพบผู้ติดเชื้อในไทยแล้ว 1 ราย จุดเด่นคือมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ส่วนความสามารถในการแพร่ระบาด ความรุนแรงของอาการในสายพันธุ์ XJ เมื่อดูจากรหัสพันธุกรรมบนจีโนมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านลงความเห็นว่าไม่น่าจะแตกต่างไปจากโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1 และ BA.2
- อาการโควิดโอไมครอนเป็นอย่างไร
สำหรับ โควิดโอมิครอนทั้ง 5 สายพันธุ์ที่พบนี้โดยทั่วไปแล้วมีอาการไม่ต่างกัน เว้นแต่ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็วแตกต่างกันไป จากการเก็บข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขไทย พบว่าใน 100 คน หากติดเชื้อโควิดโอมิครอน จะแสดงอาการดังต่อไปนี้
54% มีอาการไอ
37% มีอาการเจ็บคอ
29% มีอาการมีไข้
15% มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
12% มีอาการมีน้ำมูก
10% มีอาการปวดศีรษะ
5% มีอาการหายใจลำบาก
2% มีอาการได้กลิ่นลดลง
แต่แม้ว่าอาการในช่วงแรกที่ติดเชื้อจะไม่รุนแรง แต่ก็สามารถพัฒนาอาการรุนแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว ดังนั้นจึงไม่ควรชะล่าใจ ยังต้องระมัดระวังป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด คือสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่แออัดหรือมีผู้คนจำนวนมาก เพราะโอมิครอนสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย พยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน และเว้นระยะห่าง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดโอไมครอนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจึงยังมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ถึงแม้จะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ข้อมูลจาก WHO, กระทรวงสาธารณะสุข, ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์