- 16 เม.ย. 2565
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ "อัพเดตสถานการณ์โควิด - เป็นช่วงขาลงแล้วครับ"
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
"อัพเดตสถานการณ์โควิด - เป็นช่วงขาลงแล้วครับ"
วันสงกรานต์ผ่านไปแล้ว เลยขอมาอัพเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่ต้นปีนี้มา อีกครั้งครับ ... ข่าวดีคือ การระบาดของโควิดเป็น "ขาลง" ชัดเจนแล้ว
เมื่อดูจากกราฟของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน (รูปซ้าย เส้นสีน้ำเงิน) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังของผลรวมระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วยวิธี PCR และด้วยวิธี ATK จะเห็นว่า
หลังจากการระบาดไม่มากของสายพันธุ์ Delta หลังฉลองปีใหม่ ก็เกิดการระบาดของ Omicron ที่พุ่งขึ้นสูงตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ไปถึงจุดพีคสุดต้นเดือนมีนาคม แล้วลดลง ก่อนจะพีคขึ้นไปอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคม (คาดว่าเป็นผลจากการระบาดซ้อน ของ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2 เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.1 เดิม) และพีคอีกครั้งเล็กๆ ในช่วงต้นเดือนเมษายน
จากนั้นการระบาดก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้ซึ่งเป็นช่วงกลางเดือนเมษายนแล้ว ซึ่งน่าจะพูดได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่า เรากำลังเข้าสู่ขาลงของการระบาดระลอกนี้ ... และก็ยังสอดคล้องกับแนวโน้มของการระบาดของโอมิครอนทั่วโลก ที่มักจะมาเร็วไปเร็วใน 2 เดือน (เพียงแต่ของเรามี 2 สายพันธุ์ระบาดซ้อนกัน เลยทำให้ช้าลงไปหน่อย)
อย่างไรก็ตาม ที่ทุกคนห่วงและจับตาดูกันคือ หลังจากเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่มีผู้คนเดินทาง ท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ และจัดกิจกรรมมากมาย จะนำไปสู่การระบาดอีกระลอกของโควิดหรือเปล่า (ซึ่งผมคาดว่า ช่วงปลายเดือนเมษายน เราอาจจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่น่าจะไม่พีคสูงเหมือนตอนต้นๆ อีกแล้ว)
สำหรับค่าอื่นๆ นั้น คือ ค่าจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบและผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ ที่ยังสูงอยู่นั้น ก็เป็นไปตามคาดที่จะเป็นผลที่เกิดขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อ ในช่วงประมาณ 14 วัน ... ดังนั้น เราก็ต้องเตรียมทำใจที่จะเห็นค่าเหล่านี้สูงขึ้นอีกซักระยะ ก่อนจะเริ่มลดลง (แต่จากกราฟ ตอนนี้ก็มีแนวโน้มจะชันน้อยลงบ้างแล้ว)
ปล. เน้นเหมือนเดิมว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงานอย่างเป็นทางการ น่าจะน้อยกว่าค่าจริงประมาณ 3 เท่า แต่ก็ยังสามารถบอกแนวโน้มการระบาดในประเทศได้ครับ