- 20 เม.ย. 2565
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ "ภาวะเหงื่อออกเป็นเลือด"
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ระบุข้อความว่า
ความรู้ของโรคแปลกๆ อย่าง "ภาวะเหงื่อออกเป็นเลือด" ครับ
มีรายงานข่าวตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ถึงกรณีของเด็กหญิงอายุ 7 ขวบ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีอาการผิดปรกติ คือ มีเลือดออกตามผิวหนัง และจุดต่างๆ ของร่างกาย (เช่น จมูก ตา หู ผิวหนัง) โดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร และทางผู้ปกครองกังวลว่าเป็นอาการข้างเคียงเพราะฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือเปล่า
ซึ่งเมื่อไปพบแพทย์ ตรวจเลือด ก็ปรากฎว่ามีผลเลือดเป็นปกติทุกอย่าง โดยแพทย์ผู้ตรวจวิเคราะห์อาการได้บอกว่าอาจจะเกิดจาก"โรคเหงื่อออกเป็นเลือด" และนัดตรวจอาการอีกครั้งกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในปลายเดือนพฤษภาคม
ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้ออกเอกสารอธิบายเรื่อง "ภาวะเหงื่อออกเป็นเลือด" โดย ศ. พญ. รังสิมา วณิชภักดีเดชา ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย และ รศ. พญ. รัตนาวลัย นิติยารมย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ดังนี้ครับ
- จากกระแสข่าวพบเด็กหญิง 7 ขวบมีเลือดออกตา จมูก และผิวหนัง โดยไม่ทราบสาเหตุนั้น เกิดจากโรคภาวะเหงื่อออกเป็นเลือด (Hematohidrosis) หรือที่เรียกว่า ภาวะที่มีเลือดออกจากผิวหนังปกติ ที่ไม่มีร่องรอยบาดแผลใด ๆ
- สามารถพบเลือดออกได้ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ฝ่ามือ หลังมือ หน้าผาก ใบหน้า ซอกพับ หรือดวงตา
- เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก แต่มักสร้างความตื่นตกใจและความเครียดต่อผู้ที่เป็นและผู้ที่พบเห็น
- สาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจพบสัมพันธ์กับภาวะความเจ็บปวดทางร่างกาย เช่น โรคประจำตัวที่เป็นโรคเรื้อรังบางชนิด การออกกำลังกายอย่างหนัก การมีประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น
- นอกจากนี้ ยังสัมพันธ์กับภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด หรือภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรง รวมถึงยังมีความเชื่อเกี่ยวกับภาวะเหงื่อออกเป็นเลือดกับความเชื่อทางศาสนา
- ผู้ที่มีอาการเหงื่อออกเป็นเลือดบางราย จะมีอาการเจ็บหรือปวดแสบบริเวณที่จะมีเลือดออกนำมาก่อน บางรายอาจมี อาการใจสั่น หน้ามืด คล้ายจะเป็นลมในขณะที่มีอาการ
- เลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดแดงสด หรือน้ำสีแดงจาง อาจมีกลิ่นคาวเลือด ปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน และสามารถหยุดได้เองในเวลาไม่นาน
- ผู้ที่มีภาวะนี้มักจะมีปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือ บุคลิกภาพผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังจากการเกิดอาการเหงื่อออกเป็นเลือด
- โดยส่วนใหญ่ผุ้ที่มีภาวะนี้ จะตรวจไม่พบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายหรือการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการใด ๆ
- ทั้งนี้การรักษาภาวะนี้ขึ้นกับสาเหตุ หากในรายที่ตรวจไม่พบสาเหตุใด ๆ การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการและการรักษาปัญหาทางจิตใจควบคู่กันไป ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ
- ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งอาจมีอาการหลายเดือนจนถึงหลายปี แล้วอาการเหล่านี้มักหายไปได้เอง