- 17 ก.ย. 2561
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยิ้มได้อีกรอบสำหรับความหวังที่จะมีบ้านในราคาจับต้องได้ อธิบดีกรมธนารักษ์ได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ ว่าขณะนี้ทางกรมธนารักษ์สามารถประมูลหาผู้รับเหมาได้แล้ว 6
ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยิ้มได้อีกรอบสำหรับความหวังที่จะมีบ้านในราคาจับต้องได้ โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ ว่าขณะนี้ทางกรมธนารักษ์สามารถประมูลหาผู้รับเหมาได้แล้ว 6 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี , จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , จังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดเชียงราย , จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานี โดยมีการทยอยให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเข้ามาลงทะเบียบจองสิทธิในโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ และในปี 2562 ที่จะถึงนี้ จะมีการเปิดประมูลโครงการบ้านคนไทยได้เพิ่มอีก 2 โครงการ คือ จังหวัดลำปาง และจังหวัดนครพนม รวมทั้งหมดเป็น 8 โครงการจากแต่เดิม 6 โครงการ รวมเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้น 1,422 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้เคยออกมากล่าวถึงโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ นี้ว่าตั้งใจจะขยายให้คนไทยนั้นมีบ้านเพิ่มขึ้นในพื้นที่ 8 จังหวัดดังกล่าวก่อน ซึ่งคาดว่าเมื่อประมูลเสร็จจะเริ่มก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี และจะพยายามให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าอยู่ในช่วงสิ้นปี 2562 นี้ให้ได้ สำหรับการประมูลและบริหารโครงการให้เป็นไปตามแต่จังหวัดเป็นผู้กำกับดูแล มีหลักเกณฑ์ในการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกให้ผู้มีรายได้น้อยได้อาศัยอยู่ในราคาไม่เกิน 350,000-700,000 บาท /หน่วย หลังจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำการลงทะเบียนจองเสร็จครบแล้วจะมีการขยายให้ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาท / เดือน และประชาชนทั่วไปเข้าจองต่อตามลำดับ มีข้อแม้จำกัด 1 สิทธิ / 1 คน ทั้ง 8 โครงการ
ด้านน.ส.อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ออกมากล่าวเสริมว่าในเบื้องต้นโครงการเฉพาะที่เชียงรายจะเป็นแบบห้องชุด 8 ชั้น ไม่ต่ำกว่า 352 ยูนิต ราคา 3.5-7 แสนบาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,000 กว่าบาท หรือไม่เกิน 4,500 บาท / เดือน เมื่อผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัยผ่อนชำระค่าเช่าที่อยู่อาศัยตามเงื่อนไขของผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการ จะได้รับการโอนสิทธิอาคารสิ่งปลูกสร้างตามสัญญา และได้เป็นผู้เช่าตรงกับกรมธนารักษ์หรือตามที่ธนาคารกำหนด โดยมีสิทธิเข้าอยู่อาศัยลักษณะสัญญาเช่าระยะเวลานาน 30 ปี
ทั้งนี้โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ ใน 8 พื้นที่ดังกล่าว ได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างไว้ 3 รูปแบบ คือ 1.บ้านแฝด พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร 2.บ้านแถว พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตรและ 3.อาคารชุดพักอาศัย พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร โดยมีราคาอยู่ในระดับ 350,000-700,000 บาท /หน่วย มีธนาคารเข้าร่วมโครงการเข้าช่วยพิจารณาปล่อยกู้ผู้มีรายได้น้อย คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน หากไม่ผ่านเกณฑ์ของธนาคาร ให้นำเงินฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคาร ในอัตราผ่อนชำระค่าเช่า อย่างน้อย 9 เดือน หรือที่ธนาคารกำหนด แสดงวินัยในการผ่อนชำระ เมื่อผู้ผ่านการอนุมัติกับธนาคารแล้ว ให้เงินฝากดังกล่าวเป็นเงินดาว์นของผู้ประกอบการ
สำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน ได้เข้ามาสนับสนุนวงเงินสินเชื่อสำหรับดำเนินโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ โดยมีกรอบวงเงิน 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1. สินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) ซึ่ง ธอส. และธนาคารออมสิน กำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1-3 ในอัตรา 3% ต่อปี หลังจากนั้น MLR-ไม่เกิน 1% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ
2. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (ลดหย่อน หรือ ยืดหยุ่น) ปีที่ 1-4 ในอัตรา 2.75% ต่อปี หลังจากนั้น ถ้าเป็นกรณีรายย่อย คิดอัตรา MRR -0.75% ต่อปี หรือถ้ากรณีสวัสดิการหักเงินเดือน จะคิดอัตรา MRR -1% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน
ขอขอบคุณข้อมูล kapook